xs
xsm
sm
md
lg

รัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลียร้องรัฐบาลทหารพม่ายุติปราบปรามผู้เห็นต่าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - รัฐมนตรีต่างประเทศของออสเตรเลียเรียกร้องให้รัฐบาลทหารพม่าเลือกเส้นทางอื่นจากการปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างนองเลือด โดยระบุว่าสถานการณ์ในประเทศนั้นไม่ยั่งยืน

เพนนี หว่อง รัฐมนตรีต่างประเทศของออสเตรเลียกล่าวแสดงความเห็นดังกล่าวในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่วิกฤตในพม่าทำให้เกิดความแตกแยกในกลุ่ม

พม่าอยู่ในภาวะสงครามกลางเมืองหลังจากกองทัพยึดอำนาจในการรัฐประหารปี 2564

ไม่กี่สัปดาห์หลังกองทัพยึดอำนาจและดำเนินการปราบปรามผู้เห็นต่าง รัฐบาลทหารได้ตกลงในแผนสันติภาพ 5 ข้อกับอาเซียน แต่กลับล้มเหลวที่จะปฏิบัติตาม

“สถานการณ์พม่าน่ากังวลอย่างยิ่ง เราเห็นได้จากเศรษฐกิจ ความไม่มั่นคง ความไม่ปลอดภัย และการเสียชีวิต ข้อความที่ฉันต้องการส่งถึงรัฐบาลทหาร คือสิ่งนี้ไม่ยั่งยืนสำหรับคุณและประชาชนของคุณ” เพนนี หว่อง กล่าวกับผู้สื่อข่าวในการแถลงข่าว

“เราขอเรียกร้องให้เลือกเส้นทางที่แตกต่างและสะท้อนฉันทมติ 5 ข้อ” หว่อง กล่าว

รัฐาลทหารพม่าถูกห้ามเข้าร่วมการประชุมระดับสูงของอาเซียนจากการปราบปรามผู้เห็นต่าง

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลทหารปฏิเสธที่จะส่งผู้ที่ไม่ใช่ผู้แทนทางการเมืองเข้าร่วม แต่ครั้งนี้ มีข้าราชการระดับสูง 2 คนเป็นตัวแทนของประเทศในการประชุมที่นครหลวงเวียงจันทน์

เมื่อต้นสัปดาห์ นักการทูตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวกับเอเอฟพีว่า ความพร้อมของกองทัพที่จะกลับมามีส่วนร่วมทางการทูตอีกครั้งเป็นสัญญาณของสถานะที่อ่อนแอลง

ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์เปิดฉากโจมตีกองทัพอีกครั้งในรัฐชานตอนเหนือ โดยเข้ายึดดินแดนตามทางหลวงเส้นสำคัญที่มุ่งสู่จีน

นายพลพม่ายังไม่ทำการตอบโต้อย่างมีนัยสำคัญใดๆ หลังจากกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์เปิดฉากโจมตีเมื่อเดือน ต.ค. และยึดครองดินแดนตามแนวชายแดนติดกับจีน ซึ่งความสูญเสียดังกล่าวก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสาธารณะต่อความเป็นผู้นำ

อาเซียนเป็นหัวหอกในความพยายามทางการทูตที่จะแก้ไขวิกฤต แต่มีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อย

อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ เรียกร้องให้ดำเนินการเข้มงวดขึ้นกับรัฐบาลทหารพม่า ขณะที่ไทยได้จัดการเจรจาทวิภาคีกับนายพล และอองซานซูจี ผู้นำประชาธิปไตยที่ถูกคุมขัง

ความขัดแย้งในพม่าทำให้ประชาชน 2.7 ล้านคนต้องอพยพออกจากบ้านของตนเองตั้งแต่เกิดการรัฐประหารในปี 2564 ตามข้อมูลของสหประชาชาติ.
กำลังโหลดความคิดเห็น