เอพี - กระทรวงกลาโหมกัมพูชากล่าวว่าจีนจะมอบเรือรบ 2 ลำให้กองทัพเรือกัมพูชา ซึ่งเป็นแบบเดียวกับที่จอดเทียบท่าที่ฐานทัพสำคัญเชิงยุทธศาสตร์มานานหลายเดือน โดยฐานทัพแห่งนี้กำลังได้รับการปรับปรุงด้วยทุนจากปักกิ่ง ที่ทำให้เกิดข้อกังวลว่าจีนจะตั้งฐานทัพเรือถาวรในอ่าวไทย
โฆษกกระทรวงกลาโหมของกัมพูชากล่าวกับสำนักข่าวว่าจีนจะมอบเรือคอร์เวต Type 56 ที่สร้างใหม่จำนวน 2 ลำแก่กัมพูชา ที่จะเกิดขึ้นอย่างเร็วที่สุดในปีหน้า
แต่โฆษกกระทรวงกลาโหมไม่ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับรายงานที่ว่าจีนยังวางแผนที่จะส่งมอบสิ่งอำนวยความสะดวกที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ที่ฐานทัพเรือเรียม รวมถึงท่าเทียบเรือแห่งใหม่ที่สามารถรองรับเรือรบขนาดใหญ่กว่าที่กัมพูชามีในกองเรือ แต่กล่าวเพียงว่าเฟสสุดท้ายของการก่อสร้างจะแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้
สหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ได้แสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับการที่กองทัพเรือจีนตั้งฐานทัพที่เรียม ที่จะทำให้จีนเข้าถึงช่องแคบมะละกาที่เป็นเส้นทางเดินเรือสำคัญระหว่างทะเลจีนใต้และมหาสมุทรอินเดียได้อย่างง่ายดาย
ความกังวลดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นหลังจากเรือคอร์เวต Type 56 จำนวน 2 ลำเข้าเทียบท่าที่ท่าเรือที่สร้างขึ้นใหม่ในเดือน ธ.ค. และยังคงประจำการอยู่ที่นั่นเป็นระยะนับตั้งแต่นั้น
กัมพูชากล่าวว่าเหตุผลที่เรือคอร์เวตของจีนอยู่ที่นั่นมานานเนื่องจากกัมพูชากำลังพิจารณาเรือรบประเภทเดียวกันสำหรับกองทัพเรือของตน และเพื่อใช้ในการฝึก
โฆษกกระทรวงกลาโหมกล่าวว่าเรือคอร์เวต Type 56C จำนวน 2 ลำ ที่จะมอบให้กัมพูชา เกิดขึ้นหลังจากกัมพูชาร้องขอการสนับสนุนจากจีน
"การขอสนับสนุนจากจีนมีจุดมุ่งหมายเพื่อเสริมขีดความสามารถของกัมพูชาในการปกป้องและรักษาสันติภาพ เสถียรภาพ ความมั่นคง ตลอดจนสนับสนุนปฏิบัติการการค้นหาและกู้ภัย และกิจกรรมด้านมนุษยธรรมอื่นๆ" โฆษกระบุ
ฝ่ายกระทรวงการต่างประเทศของจีนไม่ได้แสดงความเห็นเรื่องเรือหรือรายงานที่ว่าปักกิ่งจะส่งมอบสิ่งอำนวยความสะดวกที่ฐานทัพเรือเรียมที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ให้กัมพูชา และได้ตอบกลับคำถามของเอพีเพียงว่าไม่ทราบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
ข้อโต้แย้งเกี่ยวกับกิจกรรมของจีนที่ฐานทัพเรือเรียมเริ่มขึ้นครั้งแรกในปี 2561 เมื่อวอลล์สตรีท เจอร์นัลรายงานว่า ร่างข้อตกลงเบื้องต้นที่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ได้เห็น ระบุว่าจะอนุญาตให้จีนใช้ฐานทัพแห่งนี้ได้ 30 ปี ซึ่งจะสามารถส่งทหารไปประจำการ จัดเก็บอาวุธ และจอดเรือรบได้
ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาในขณะนั้นปฏิเสธว่าไม่มีข้อตกลงดังกล่าว โดยเน้นย้ำว่ารัฐธรรมนูญของกัมพูชาไม่อนุญาตให้ตั้งฐานทัพต่างชาติบนแผ่นดินของตน
การทำงานของจีนในฐานทัพเรือเรียมยังคงดำเนินต่อไป และฮุน มาเนต ที่สืบทอดตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากฮุนเซน ก็ยืนกรานในเรื่องเดียวกัน
หากกองทัพจีนได้รับอนุญาตให้เข้าถึงฐานทัพเรือเรียมเป็นพิเศษโดยแลกเปลี่ยนกับเรือรบที่มอบให้กัมพูชา และสำหรับงานในฐานทัพดังกล่าว ก็อาจเป็นวิธีที่ดีในการเลี่ยงปัญหาทางรัฐธรรมนูญ นักวิเคราะห์อาวุโสด้านกลาโหมจากสถาบันนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ออสเตรเลีย กล่าว
“เป็นการเคลื่อนไหวที่ฉลาดเพราะทำให้กัมพูชายังคงรักษาแนวทางของตนไว้ว่าไม่ได้เบี่ยงเบนไปจากรัฐธรรมนูญจากการสร้างฐานทัพต่างชาติ และจีนก็มีเรือรบมากมายที่จะบริจาคได้” นักวิเคราะห์ กล่าว
“คาดว่าจีนอาจรักษากำลังทหารไว้บนเรือคอร์เวตหลังส่งมอบ แต่คำถามที่แท้จริงคือกองทัพจีนจะสามารถเข้าถึงฐานทัพเรือเรียมได้ในระดับใด และการเข้าถึงดังกล่าวเป็นสิทธิพิเศษหรือไม่” นักวิเคราะห์ กล่าวเสริม
จนถึงขณะนี้มีเพียงเรือรบจีนที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ท่าเรือแห่งใหม่นี้ โดยในเดือน ก.พ. เรือพิฆาตญี่ปุ่น 2 ลำ ต้องไปเทียบท่าที่ท่าเรือสีหนุวิลล์ที่อยู่ใกล้เคียงแทน ขณะเดียวกัน เรือฟริเกตของกองทัพเรือออสเตรเลียก็เข้าเทียบท่าที่สีหนุวิลล์
โฆษกกลาโหมกล่าวว่ากัมพูชามีสิทธิที่จะส่งเสริมความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งหมดเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ ตราบเท่าที่ปฏิบัติตามข้อบังคับของรัฐธรรมนูญ
กัมพูชาเป็นพันธมิตรใกล้ชิดที่สุดของจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่จีนเป็นพันธมิตรและผู้ให้การช่วยเหลือสำคัญที่สุดของกัมพูชา โดยมีอิทธิพลอย่างมากต่อเศรษฐกิจของประเทศ
นอกเหนือจากโครงการทางทหารแล้ว จีนยังให้ทุนสนับสนุนโครงการอื่นๆ อีกมากมายในกัมพูชาโดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงสร้างพื้นฐานที่รวมถึงสนามบินและถนน และยังมีโครงการของเอกชน เช่น โรงแรม กาสิโน และการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ตาม จีนกินส่วนแบ่งหนี้ต่างประเทศของกัมพูชาอยู่ราว 40%.