เอเอฟพี - รัฐบาลทหารพม่าสั่งให้ชาวบ้านหลายพันคนที่อาศัยอยู่นอกเมืองเอกของรัฐยะไข่ออกจากบ้านของตนเอง และมุ่งหน้าเข้าไปในเมือง ตามการเปิดเผยของชาวบ้านวันนี้ (14)
เมืองสิตตเว เป็นหนึ่งในไม่กี่เมืองที่กองกำลังทหารพม่ายังคงยึดครองไว้ได้ในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของประเทศ พื้นที่ที่กองทัพสูญเสียดินแดนบางส่วนให้กองทัพอาระกัน (AA) ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา
กองทัพอาระกัน ที่ระบุว่าพวกเขากำลังต่อสู้เพื่อสิทธิในการปกครองตนเองให้ประชากรชาติพันธุ์ยะไข่ของรัฐ ได้ให้คำมั่นว่าจะเข้ายึดเมืองสิตตเว เมืองเอกของรัฐ ที่ยังเป็นที่ตั้งของท่าเรือน้ำลึกและมีประชากรอาศัยอยู่ราว 200,000 คน
ชาวบ้านจากหมู่บ้านแห่งหนึ่งกล่าวกับเอเอฟพีว่า ชาวบ้านใน 15 หมู่บ้านรอบเมืองสิตตเว มีเวลา 5 วันในการออกจากบ้านและย้ายเข้าไปในเมือง
“กองทัพขู่ว่าจะยิงและฆ่าเราหากพบว่ายังอยู่หลังเดดไลน์ที่จะสิ้นสุดในวันเสาร์” ชาวบ้านกล่าว
ชาวเมืองสิตตเวที่ระบุจำนวนหมู่บ้านที่ได้รับคำสั่งให้อพยพว่าอยู่ที่ประมาณ 10 หมู่บ้าน กล่าวว่า ชาวบ้านได้รับคำสั่งให้ย้ายออกด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย
หมู่บ้านเหล่านี้เป็นที่อยู่อาศัยของผู้คนราว 3,500 คน ชาวเมืองสิตตเวกล่าว โดยขอไม่เปิดเผยชื่อ และระบุว่ากองทัพไม่ได้จัดเตรียมที่พักอาศัยชั่วคราวให้คนอพยพเหล่านี้
“ผู้คนต้องย้ายไปอยู่บ้านญาติจากหมู่บ้านอื่นๆ” ชาวบ้านระบุ
สื่อท้องถิ่นยังรายงานเกี่ยวกับคำสั่งอพยพหมู่บ้านในพื้นที่ดังกล่าว
ในเดือน พ.ย. กองทัพอาระกันได้เปิดฉากโจมตีทหารทั่วรัฐยะไข่ ยุติการหยุดยิงที่ตกลงกันไว้หลังการรัฐประหาร นับจากนั้นพวกเขาสามารถยึดดินแดนตามแนวชายแดนติดกับอินเดีย บังกลาเทศ และเพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาลทหาร ในขณะที่กองทัพกำลังต่อสู้กับฝ่ายตรงข้ามในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ
นอกจากนี้ กองทัพอาระกันยังสามารถยึดเมืองปอก์ตอ ห่างจากเมืองสิตตเวราว 25 กิโลเมตร ตั้งแต่เดือน ม.ค.
ภาพถ่ายของเอเอฟพีจากเมืองปอก์ตอเมื่อเดือนก่อนเผยให้เห็นสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับความเสียหาย ซากปรักหักพังจากระเบิดอันเนื่องจากการสู้รบ ที่ทำให้ท่าเรือประมงของชาวบ้านว่างเปล่า
ในเดือนนี้ กองทัพอาระกันกล่าวว่ากองกำลังทหารได้สังหารพลเรือนไปมากกว่า 70 คน ในการโจมตีหมู่บ้านบยินพยู ทางเหนือของเมืองสิตตเว
แต่รัฐบาลทหารกล่าวว่าคำกล่าวอ้างดังกล่าวเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ และกล่าวหาว่ากองกำลังของกองทัพอาระกันโจมตีเมืองสิตตเวจากหมู่บ้านที่อยู่รอบๆ
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบริการโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตถูกตัดขาดทั่วทั้งรัฐยะไข่ ทำให้ยากต่อการตรวจสอบรายงานความรุนแรงดังกล่าว.