xs
xsm
sm
md
lg

นายใหญ่ UN ประณามการโจมตีของกองทัพพม่าต่อพลเรือนในรัฐยะไข่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติประณามการโจมตีล่าสุดของทหารพม่าที่มีรายงานว่าสังหารพลเรือนไปเป็นจำนวนมากในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของประเทศ

กองทัพอาระกัน (AA) กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ ได้โจมตีกองกำลังของรัฐบลทหารในรัฐยะไข่เมื่อเดือน พ.ย. ที่ยุติการหยุดยิงที่ได้ตกลงไว้หลังการรัฐประหารในปี 2564

“กูเตอร์เรสประณามการโจมตีเมื่อไม่นานนี้ของทหารพม่า ที่มีรายงานว่าสังหารพลเรือนไปหลายราย รวมถึงในรัฐยะไข่” โฆษกของเลขาธิการสหประชาชาติระบุในคำแถลง

กองทัพอาระกันกล่าวว่า พวกเขากำลังต่อสู้เพื่อสิทธิในการปกครองตนเองมากขึ้นสำหรับประชากรชาติพันธุ์ยะไข่ในรัฐทางตะวันตก ที่ยังเป็นที่อยู่ของชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮิงญาราว 600,000 คน

ในสัปดาห์นี้ กองทัพอาระกันกล่าวว่า กองกำลังทหารของรัฐได้สังหารพลเรือนไปมากกว่า 70 คน ในการโจมตีหมู่บ้านบยินพยู ทางเหนือของเมืองสิตตเว ที่เป็นเมืองเอกของรัฐยะไข่

ฝ่ายรัฐบาลทหารกล่าวว่าข้อกล่าวหาของกองทัพอาระกันเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ

แต่เนื่องจากบริการโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตถูกตัดทั่วทั้งรัฐยะไข่ ทำให้ยากต่อการตรวจสอบรายงานเกี่ยวกับความรุนแรงดังกล่าว

กูเตอร์เรสยังเรียกร้องให้ยุติการประหัตประหารที่ดำเนินอยู่ต่อชนกลุ่มน้อยโรฮิงญาที่พบว่าตนเองติดอยู่ท่ามกลางการสู้รบระหว่างรัฐบาลทหารและกองทัพอาระกัน

นักเคลื่อนไหวชาวโรฮิงญากล่าวว่า กองทัพอาระกันบังคับให้สมาชิกหลายหมื่นคนในชุมชนของตนต้องอพยพย้ายถิ่น เผาและปล้นบ้านของพวกเขา ขณะเดียวกันก็กล่าวหาว่ารัฐบาลทหารบังคับเกณฑ์โรฮิงญาหลายพันคนไปต่อสู้กับกองทัพอาระกัน ในขณะที่ทหารพ่ายแพ้ในการรบ

โรฮิงญาหลายแสนคนหลบหนีออกจากรัฐยะไข่ไปยังบังกลาเทศในปี 2560 ระหว่างการปราบปรามของทหาร ที่ขณะนี้ตกเป็นจำเลยของคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของสหประชาชาติ

กูเตอร์เรสยังประณามการโจมตีของรัฐบาลทหารที่มีรายงานว่าสังหารพลเรือนในภาคสะกาย ทางตอนเหนือ พื้นที่ที่มีการต่อต้านการรัฐประหารของกองทัพ

เมื่อต้นสัปดาห์ สื่อท้องถิ่นรายงานว่ามีการโจมตีทางอากาศที่หมู่บ้านมะตอ ในภาคสะกาย คร่าผู้คนที่ไปร่วมฉลองงานแต่งงานประมาณสิบคน

รัฐบาลทหารไม่ได้ตอบสนองต่อคำร้องขอความเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว

“เหตุโจมตีทิ้งระเบิดทางอากาศตามอำเภอใจยังคงมีรายงานทั่วประเทศ” กูเตอร์เรส กล่าว พร้อมทั้งเรียกร้องให้ผู้ที่ดำเนินการเหล่านั้นต้องรับผิดชอบ

กลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวหารัฐบาลทหารใช้การโจมตีดังกล่าวลงโทษชุมชนที่ต้องสงสัยว่าต่อต้านการปกครองของตน

ประชาชนประมาณ 2.7 ล้านคน ต้องพลัดถิ่นจากบ้านเรือนของตนเองจากความขัดแย้งที่ปะทุขึ้นหลังรัฐบาลทหารยึดอำนาจในปี 2564.
กำลังโหลดความคิดเห็น