xs
xsm
sm
md
lg

"ลาว-ไทย" ทดลองเดินรถไฟ "อุดรธานี-คำสะหวาด"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สถานีรถไฟเวียงจันทน์ (คำสะหวาด)
MGR Online - รถไฟลาว-ไทย ทดลองเดินรถ "ท่านาแล้ง-คำสะหวาด" เพื่อทดสอบระบบ ตรวจตราทางเทคนิคก่อนเปิดให้บริการเร็วๆ นี้ พร้อมเตรียมขยายเส้นทาง "อุดรธานี-หนองคาย-ท่านาแล้ง-คำสะหวาด" เสริมช่องว่างการเดินทางจากเครื่องบินลงอุดรฯ ต่อรถไฟเข้าเวียงจันทน์ได้โดยตรง

วานนี้ (14 พ.ค.) รัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งชาติลาว กระทรวงโยธาธิการและขนส่ง สปป.ลาว ร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เริ่มทดลองเดินรถไฟจากสถานีท่านาแล้งไปสถานีเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) เพื่อตรวจสอบด้านเทคนิค โดยจะทดลองเดินรถทุกวันไปจนถึงวันที่ 17 พฤษภาคม ช่วงเวลา 8.30-15.30 น. วันละ 9 เที่ยว เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดบริการเดินรถไฟระหว่างสถานีหนองคาย ประเทศไทย กับสถานีเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) สปป.ลาว

นายคอนสะหวัน คำพิวง หัวหน้าสถานีรถไฟท่านาแล้ง เปิดเผยว่า การทดลองเดินรถระหว่างสถานีท่านาแล้งไปสถานีเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ที่เริ่มขึ้นเมื่อวานนี้ ถือเป็นครั้งที่ใช้คนขับรถไฟชาวลาว ซึ่งเมื่อเปิดให้บริการแล้วจะมีการสลับคนขับรถ โดยคนขับรถไฟชาวไทยจะควบคุมรถมาจากสถานีหนองคาย เมื่อถึงสถานีท่านาแล้ง จะเปลี่ยนมือให้คนขับรถไฟชาวลาวขับต่อไปถึงสถานีรถไฟเวียงจันทน์ (คำสะหวาด)

นอกจากนี้ ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม ถึงวันที่ 20 พฤษภาคมนี้ จะมีการทดลองเดินรถไฟระหว่างสถานีอุดรธานี-หนองคาย-ท่านาแล้ง-เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ซึ่งจะเป็นรถไฟขบวนใหม่ที่การรถไฟของ 2 ประเทศมีแผนจะขยายการให้บริการเพิ่มในช่วงหลังจากนี้

หากรถไฟขบวนอุดรธานี-เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) เปิดให้บริการ จะสามารถรับผู้โดยสารที่เดินทางโดยเครื่องบินมาลงยังสนามบินอุดรธานี เพื่อเดินทางต่อเข้าไปนครหลวงเวียงจันทน์ได้ โดยไม่ต้องต่อรถบัสโดยสาร หรือรถตู้ไปยังหนองคายเหมือนเมื่อก่อน

สถานีเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) เป็นสถานีรถไฟแห่งที่ 2 ในเส้นทางรถไฟลาว-ไทย ตั้งอยู่ที่บ้านคำสะหวาด เมืองไซเสดถา นครหลวงเวียงจันทน์ อยู่ห่างขึ้นไปทางทิศเหนือจากสถานีท่านาแล้ง เมืองหาดซายฟอง 7.5 กิโลเมตร และห่างจากสถานีนครหลวงเวียงจันทน์ ปลายทางของเส้นทางรถไฟลาว-จีน 15 กิโลเมตร เป็นสถานีขนาด 2 ชั้น 2 ชานชาลา ชั้น 1 มีพื้นที่ 6,300 ตารางเมตร ชั้น 2 มีพื้นที่ 3,600 ตารางเมตร มีพื้นที่ชานชาลาอีก 3,600 ตารางเมตร ขนาดรางกว้าง 1 เมตร

การก่อสร้างสถานีเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) เริ่มต้นเมื่อปี 2562 ใช้งบประมาณก่อสร้างรวม 994.68 ล้านบาท ในนี้ 30% เป็นเงินช่วยเหลือจากสำนักงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (NEDA) ของไทย ที่เหลืออีก 70% เป็นเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ

วันที่ 30 ตุลาคม 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีของไทย และนายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ได้ร่วมกันเป็นประธานในพิธีเปิดสถานีเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) แต่กำหนดการเปิดใช้อย่างเป็นทางการคาดว่าจะได้ข้อสรุปหลังจากการทดลองวิ่งรถไฟเวียงจันทน์ (คำสะหวาด)-อุดรธานี เสร็จสิ้นลงในวันที่ 20 พฤษภาคมนี้.






กำลังโหลดความคิดเห็น