xs
xsm
sm
md
lg

ภัยแล้งทำพิษ! เขื่อนลาวเหลือน้ำไม่ถึง 30% ต้องซื้อไฟฟ้าจากไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เขื่อนผลิตไฟฟ้าน้ำงึม 1 ในแขวงเวียงจันทน์
MGR Online - "แบตเตอรี่อาเซียน" พ่ายสภาพอากาศ เจอภัยแล้ง-ฤดูฝนสั้นลง น้ำในเขื่อนทั่วประเทศลดเหลือไม่ถึง 30% ผลิตไฟฟ้าได้ไม่พอใช้ในประเทศ จนต้องนำเข้าจากไทย EDL จำเป็นต้องลดการขายไฟให้บางกิจการโดยเฉพาะเหมืองขุดคริปโตฯ เพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบ วอนผู้ใช้ทุกภาคส่วนช่วยกันประหยัด

วันที่ 10 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (EDL) ได้รายงานสถานการณ์ของแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าทั้งหมดที่มีอยู่ใน สปป.ลาว ซึ่ง 95% มาจากเขื่อนผลิตไฟฟ้า ว่า ตั้งแต่ต้นปี 2566 เป็นต้นมา เขื่อนเหล่านี้ต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้ง อากาศร้อนอบอ้าว รวมถึงฤดูฝนที่มีระยะสั้นลง ส่งผลให้ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าสู่อ่างเก็บน้ำมีน้อยกว่าแผนที่วางไว้ ทำให้ปริมาณการผลิตไฟฟ้าลดลงไปประมาณ 10% หรือ 1,090 กิกะวัตต์/ชั่วโมง (GWh) เทียบเท่ากับการให้เขื่อนน้ำงึม 1 หยุดผลิตไฟฟ้าตลอดทั้งปี

มาถึงปัจจุบัน ปัญหาภัยแล้งดังกล่าวยังมีอยู่ จนถึงเดือนเมษายน 2567 ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนทุกแห่งเหลือต่ำกว่า 30% เทียบกับปริมาณน้ำเต็มอ่าง เพราะมีน้ำไหลเข้ามาน้อยมาก การผลิตไฟฟ้าจากทุกเขื่อนทำได้เพียง 1,660 เมกะวัตต์ ขณะที่การใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศพุ่งขึ้นไปสูงสุดถึง 2,015 เมกะวัตต์ หรือเพิ่มขึ้น 15.30% จากช่วงเดียวกันของปี 2566

เพื่อให้สามารถสนองไฟฟ้าได้เพียงพอต่อความต้องการใช้ EDL จำเป็นต้องนำเข้าพลังงานไฟฟ้าจากประเทศไทย โดย EDL เป็นฝ่ายรับภาระส่วนต่างของราคาไฟฟ้าที่สูงกว่าราคาที่ EDL ขายให้ไทยในยามที่สถานการณ์ปกติ

ตั้งแต่ปริมาณการผลิตไฟฟ้าในประเทศมีน้อยกว่าความต้องการใช้ EDL ได้ซื้อไฟฟ้าจากประเทศไทยเข้ามาชดเชยส่วนนี้แล้วถึง 700 เมกะวัตต์ เทียบเป็นปริมาณไฟฟ้า 909.47 กิกะวัตต์/ชั่วโมง และคาดว่าตลอดทั้งปีต้องมีการนำเข้าไฟฟ้าจากไทยประมาณ 1,400-1,600 กิกะวัตต์/ชั่วโมง

สายส่งไฟฟ้าและสถานีไฟฟ้าทั่ว สปป.ลาว
การนำเข้าไฟฟ้าจากไทยในปริมาณดังกล่าว ทำให้มีการส่งกระแสไฟฟ้าผ่านสายส่งที่เชื่อมระหว่าง 2 ประเทศสูงถึง 90-95% อยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะสายส่งขนาด 115 กิโลโวลต์ (kV) ดงโพสี-หนองคาย และท่านาแล้ง-หนองคาย ที่รับไฟฟ้ามาป้อนให้ความต้องการใช้ในนครหลวงเวียงจันทน์ ทำให้สายส่งทั้ง 2 เส้น อยู่ในสภาพ Over Load ประกอบกับ ประเทศไทยเองมีขีดจำกัดในการส่งไฟฟ้าให้ EDL สถานการณ์เช่นนี้อาจมีผลให้เกิดกรณีไฟดับกินบริเวณกว้าง และต้องใช้เวลานานในการกู้ระบบให้กลับคืนเป็นปกติ

หากสถานการณ์ภัยแล้งยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำของเขื่อนแต่ละแห่งไม่เพิ่มขึ้น จนไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เต็มกำลัง EDL จำเป็นต้องบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าด้วยการลดปริมาณไฟฟ้าที่ขายให้น้อยลง มีการดับไฟในบางกิจการ โดยเฉพาะไฟฟ้าที่จ่ายให้เหมืองขุดเงินคริปโตฯ ซึ่งเป็นโครงการทดลองของรัฐบาล รวมถึงลูกค้าประเภทอื่นๆ ที่เห็นว่ามีความจำเป็น เพื่อรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ไม่ให้เกิดกรณีไฟดับเป็นวงกว้าง และ EDL ขอเรียกร้องไปยังผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งหลาย โรงงาน เขตเศรษฐกิจ เขตอุตสาหกรรม และภาคประชาชนให้ช่วยกันประหยัดและใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ.












กำลังโหลดความคิดเห็น