กระทรวงคมนาคมเร่งผลักดันรถไฟความเร็วสูงให้ไทยเป็นแกนกลางการขนส่งระบบรางเชื่อมระหว่างจีน-อาเซียน เร่งแก้ปัญหาคอขวดช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์ ที่การขนส่งคอนเทนเนอร์ทางรางยังไม่สะดวก ขณะที่รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะแรก กรุงเทพฯ-โคราช ยังล่าช้า คืบหน้าเพียง 15.49%
เมื่อวันที่ 6-7 ต.ค. 2565 “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ”เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ในนาม”ทีมไทยแลนด์” ซึ่งมีทั้งผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชน หอการค้า ผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ไทย เดินทางไปประชุมเกี่ยวกับโครงการเชื่อมต่อทางรถไฟ ช่วงหนองคาย – เวียงจันทน์ ร่วมกับนายเวียงสะหวัด สีพันดอน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) หลังจากนั้นได้เข้าเยี่ยมชม การบริหารจัดการขนส่งสินค้า ของ โครงการเวียงจันทน์โลจิสติกส์ปาร์ก (Vientiane Logistics Park : VLP) ต่อด้วยการทดลองนั่งรถไฟ”ลาว-จีน” จากนครหลวงเวียงจันทน์ ไปยังเมืองหลวงพระบาง (ใช้เวลาเดินทาง 2 ชั่วโมง 5 นาที)
การเจรจาบนโต๊ะ บรรยากาศเป็นไปด้วยดี ใช้เวลาไม่นาน เนื่องจากก่อนหน้านี้ คณะทำงานทั้ง 2 ฝ่ายได้ร่วมประชุมกันไปหลายรอบ ในขณะที่ข้อสรุป ก็ถือว่าแทบจะยังไม่มีอะไรที่เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะฝั่งไทยทุกประเด็น ยังเป็นขั้นตอนศึกษา จะมีเพียงการใช้ประโยชน์ สะพานมิตรภาพที่ได้เริ่มการบริหารจัดการใช้ทางรถไฟข้ามแม่น้ำโขงเดิมระหว่างรอการก่อสร้างสะพานแห่งใหม่ ด้วยการเพิ่มขบวนรถไฟขาไป 7 ขบวน และขากลับ 7 ขบวน รวม 14 ขบวน รองรับขบวนละ 25 แคร่ ทำให้ขนส่งสินค้าได้เพิ่มขึ้นจากเดิม
@ไทยเร่งพัฒนาจุดเชื่อมโยงสินค้าและผู้โดยสาร
ประเด็นที่กำหนดไว้ เกี่ยวกับการเชื่อมโยงผู้โดยสารและสินค้าทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน สองฝ่ายได้ตกลงร่วมกันที่จะพัฒนาและปรับปรุงความร่วมมือด้านการคมนาคมทั้ง 4 มิติ เพื่อที่การเชื่อมต่อโครงข่ายคมนาคมร่วมกันระหว่างสองประเทศจะมีความคืบหน้าและบรรลุเป้าหมายโดยมีประเด็นหลัก คือ
1. แนวทางการขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางรถไฟไทย – ลาว – จีน ซึ่งฝ่ายไทยนำเสนอ ความก้าวหน้า โครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ระยะทาง 250.77 กม. ว่าปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้าง ซึ่งงานโยธาก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 สัญญา อยู่ระหว่างก่อสร้าง 10 สัญญา และจัดซื้อจัดจ้าง 3 สัญญา ส่วนงานระบบอยู่ระหว่างออกแบบ คาดว่าเปิดให้บริการปี 2569
ความก้าวหน้า โครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย ระยะทาง 355 กม. มีจำนวน 5 สถานี ประกอบด้วย สถานีบัวใหญ่ สถานีบ้านไผ่ สถานีขอนแก่น สถานีอุดรธานี และสถานีหนองคาย ปัจจุบัน การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อยู่ระหว่างปรับปรุงรายงาน EIA คาดว่าเปิดให้บริการปี 2572 ความก้าวหน้า โครงการรถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่น – หนองคาย ระยะทาง 167 กม. คาดว่าจะสามารถนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในปี 2565 เปิดให้บริการปี 2569
@ สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ไม่จบ! ลาวไม่ตอบรับ ”สะพานรถไฟใช้ร่วมรถยนต์” เหตุเกินความจำเป็น
สำหรับการขนส่งสินค้าทางรถไฟข้ามแดนนั้น นอกจากการเพิ่มการเดินรถไฟบนสะพานเดิมเป็น 14 ขบวนต่อวัน ไปแล้ว ประเด็นการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ ได้ข้อสรุปตรงกันคือ ตำแหน่งสะพานใหม่ รองรับรถไฟขนาดมาตรฐาน (1.435 เมตร) จำนวน 2 ทาง (รองรับรถไฟความเร็วสูง) และขนาด 1 เมตร จำนวน 2 ทาง (รองรับรถไฟปัจจุบัน) โดยเมื่อก่อสร้างสะพานแห่งใหม่เสร็จ จะปรับสะพานเดิม รับเฉพาะรถยนต์ โดยฝ่ายไทยและฝ่ายลาวจะร่วมลงทุนค่าใช้จ่ายร่วมกันในอาณาเขตของแต่ละฝ่าย
ล่าสุด กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้กรมทางหลวง ออกแบบสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ให้สามารถรองรับการใช้งานของรถไฟ และรถยนต์ควบคู่กัน ซึ่งฝ่ายไทยรับที่จะออกค่าศึกษาออกแบบให้ โดยกรมทางหลวง ได้รับงบประมาณเหลือจ่ายปี 2565 วงเงิน 40 ล้านบาท จ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบสะพานมิตรภาพหนองคายแห่งที่ 2
ระยะที่ 1 การศึกษาความเหมาะสมของโครงการ (Feasibility Study : FS Study) และรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (Initial Environmental Examination: IEE) ประมาณ 9 เดือน แล้วเสร็จปลายเดือนมิถุนายน 2566
ระยะที่ 2 งานออกแบบรายละเอียด (Detailed Design) และงานศึกษาทบทวนผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ระยะเวลา 12 เดือน เบื้องต้นฝ่ายลาวไม่ขัดข้องที่ไทย จะรับผิดชอบการศึกษาออกแบบ แต่มีข้อเสนอว่าสะพานรถไฟและรถยนต์ควรแยกออกจากกัน และฝ่ายลาวเห็นว่าการเชื่อมต่อระหว่างไทยและลาว ควรเป็นการดาเนินการระหว่างฝ่ายไทยและฝ่ายลาว เหมือนกับสะพานมิตรภาพระหว่างไทย – ลาว ทั้ง 6 แห่งที่ผ่านมา
เท่ากับลาวยังยืนยันแนวคิด สะพานรถไฟแยกจากรถยนต์ ไม่ตรงกับข้อเสนอของไทยที่ขอโครงสร้างสะพานที่ใช้งานร่วมทั้งรถไฟและรถยนต์ ซึ่งคาดว่า น่าจะต้องหารือกันอีกหลายรอบ เหตุผลหลักของลาว คือ ไม่ควรสร้างเกินความจำเป็นและทำให้ค่าก่อสร้างแพงขึ้น
@ รฟท.ศึกษา PPP พัฒนาย่านสถานีนาทา เสร็จปี 66
สำหรับ การพัฒนาย่านขนถ่ายสินค้าและย่านกองเก็บตู้สินค้าสถานีนาทา เนื้อที่ประมาณ 268 ไร่ มีเป้าหมายเพื่อรองรับการขนส่งจากจีนและลาว และส่งออกไปยังลาว ปัจจุบัน รฟท. อนุมัติให้ว่าจ้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นที่ปรึกษาโครงการศึกษาและวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าและย่านกองเก็บตู้สินค้าเพื่อรองรับการขนส่งทางรางจังหวัดหนองคาย (อนุมัติเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ระยะเวลาสัญญา 16 มิถุนายน 2565 – 11 มีนาคม 2566 (210 วัน)
ในขณะที่ฝั่งลาวมี”โครงการเวียงจันทน์โลจิสติกส์”บริการด้านขนส่งสินค้าครบวงจร ซึ่งกว่า”ย่านสถานีนาทา”เปิดบริการ เชื่อว่าการขนส่งโลจิสติสก์ของลาวคงขยับหนีไปอีกไกล
ในระหว่างนี้ ไทยจึงมีแผนระยะเร่งด่วน คือ การพัฒนาย่านสถานีหนองคายเป็นพื้นที่เปลี่ยนถ่ายสินค้า เพื่อใช้รองรับเส้นทางรถไฟจีน - ลาว โดยการขนส่งผ่านสะพานเดิมไปก่อน ซึ่งบริเวณสถานีหนองคาย มีพื้นที่ประมาณ 80 ไร่ จะเป็นพื้นที่ตรวจปล่อยสินค้าระหว่างประเทศ และการเปลี่ยนถ่ายจากถนนสู่ราง โดย รฟท. ใช้งบ 4.22 ล้านบาทปรับปรุงพื้นที่บริเวณลานยกขนสินค้าเรียบร้อยแล้ว กรมศุลกากรดำเนินการขอออกประกาศใช้พื้นที่บริเวณสถานีหนองคายเป็นพื้นที่ตรวจปล่อย จำนวน 46,800 ตารางเมตร
ส่วนพื้นที่คงเหลือ รฟท. พิจารณาแบ่งออกเป็น 5 แปลง พื้นที่แปลงละ 11,200 ตารางเมตร โดยเพื่อออกประกาศเชิญชวน จำนวน 4 แปลง และกันไว้เป็นพื้นที่ส่วนกลาง 1 แปลง
@ข้อจำกัดสะพานมิตรภาพ คอขวดขนส่งข้ามแดน อุปสรรคปริมาณคอนเทนเนอร์ทางรางไม่พุ่ง
จากข้อมูลปริมาณการขนส่งสินค้าทางรางประเภทสินค้าคอนเทนเนอร์ เส้นทางหนองคาย – ท่านาแล้ง ในช่วงเดือนพ.ย. 2564 –ส.ค. 2565 มีจำนวน 25,387 ตัน โดยเฉพาะในเดือนส.ค. 2565 พบว่า มีปริมาณการขนส่งสินค้า ถึง 5,500 ตัน เมื่อเปรียบเทียบกับเดือน ก.ค. 2565 ที่มี 3,121 ตัน เป็นการเพิ่มขึ้น ถึง 76 %
ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางราง วิเคราะห์ว่า ปริมาณการขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้น เป็นผลจาก การบริหารจัดการการใช้ทางรถไฟและการใช้สะพานให้มีความเหมาะสม โดยเพิ่มความถี่การเดินรถไฟจากเดิม 4 เที่ยว ไป/กลับ และขนส่งสินค้าขบวนละ 12 แคร่ เป็น 14 เที่ยว ไป/กลับ และขนส่งสินค้าขบวนละ 25 แคร่ โดยใช้หัวลาก ขนาด 15 ตัน/เพลา ซึ่งเป็นการเพิ่มทางเลือกในการขนส่งสินค้าของผู้ประกอบการไปยังท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) อีกด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม พบว่า ยังมีอุปสรรคการขนส่งสินค้าทางรถไฟระหว่างไทย-ลาว เช่น ปัญหาการบริหารจัดการสินค้าระหว่างย่านสถานีเวียงจันทน์ใต้กับท่าบกท่านาแล้ง ,ข้อจำกัดของ สะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 1 ทำให้การรับน้ำหนักบรรทุกไม่ได้เต็มประสิทธิภาพ ,ค่าบริการฝั่งสปป.ลาว ที่ยังสูงมาก เป็นต้น
@เร่งไม่ขึ้น!รถไฟไทย-จีน ระยะแรก กรุงเทพฯ-นครราชสีมา 3 สัญญา ติดหล่มไม่ขยับ
สำหรับการก่อสร้างงานโยธา”รถไฟความเร็วสูง” ไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา ระยะทาง 250.77กม. จำนวน 14 สัญญา นั้นแล้วเสร็จไปเพียงสัญญาเดียวคือ 1-1 ช่วงกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้าง 10 สัญญา โดย ณ สิ้นเดือน ก.ย. 2565 ภาพรวมทั้งโครงการมีความคืบหน้า 15.49 % ขณะที่แผนงานวางไว้ที่ 37.33%
สัญญาที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง 10 สัญญา ประกอบด้วย
-สัญญา 2–1 ช่วงสีคิ้ว–กุดจิก ระยะทาง 11 กม. วงเงิน 3,114.98 ล้านบาท มี บจ.ซีวิลเอ็นจีเนียริง เป็นผู้ก่อสร้าง คืบหน้า 94.44%
-สัญญา 3–2 อุโมงค์มวกเหล็กและลาตะคอง ระยะทาง 12.23 กม. วงเงิน 4,279 ล้านบาท มี บมจ.เนาวรัตน์ พัฒนาการ เป็นผู้ก่อสร้าง คืบหน้า 4.16 %
-สัญญา 3–3 ช่วง บันไดม้า-ลำตะคอง ระยะทาง 26.10 กม. วงเงิน 9,838 ล้านบาท มี บจ.ไทย เอ็นยิเนียร์ และอุตสาหกรรมเป็นผู้ก่อสร้าง คืบหน้า 13.93 %
-สัญญา 3-4 ช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และช่วงกุดจิก-โคกกรวด ระยะทาง 37.45 กม. วงเงิน 9,848 ล้านบาท มี บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เป็นผู้ก่อสร้าง คืบหน้า 38.20 %
-สัญญา 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ระยะทาง 12.38 กม. วงเงิน 7,750 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้า SPTK (นภาก่อสร้าง ร่วมกับรับเหมาประเทศมาเลเซีย) เป็นผู้ก่อสร้าง คืบหน้า 2.36 %
- สัญญา 4-2 ช่วงดอนเมือง-นวนคร ระยะทาง 21.80 กม. วงเงิน 10,570 ล้านบาท มี บมจ.บริษัทยูนิค เอ็นจิเนียริ่งแอนด์ คอนสตรัคชั่น เป็นผู้ก่อสร้าง คืบหน้า 0.08%
- สัญญา 4-3 ช่วงนวนคร-บ้านโพ ระยะทาง 23 กม. วงเงิน 11,525.35 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้า CAN (บจ.เอ.เอสแอสโซศซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964), บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ และ บริษัท ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอนยิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด เป็นผู้ก่อสร้าง คืบหน้า 4.08 %
-สัญญา 4-4 งานศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย วงเงิน 6,573 ล้านบาท มี บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เป็นผู้ก่อสร้างนั้น ลงนามแล้ว แจ้ง NTP ให้เริ่มงานเมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2565 อยู่ระหว่างจัดเตรียมพื้นที่
- สัญญา 4-6 ช่วงพระแก้ว-สระบุรี ระยะทาง 31.60 กม. วงเงิน 9,429 ล้านบาท มี บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น เป็นผู้ก่อสร้าง คืบหน้า 0.13%
- สัญญา 4-7 ช่วงสระบุรี-แก่งคอย ระยะทาง 12.99 กม. วงเงิน 8,560 ล้านบาท มี บมจ.ซีวิลเอนจีเนียริง เป็นผู้ก่อสร้าง คืบหน้า 127.92%
อีก 3 สัญญานั้นมี 2 สัญญาที่ประกวดราคาแล้วแต่ยังไม่สามารถลงนามได้ คือ สัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.30 กม. วงเงิน 9,913 ล้านบาท เนื่องจากสถานีอยุธยาติดมรดกโลก ล่าสุดรฟท.เตรียมลงนามจ้างผู้รับเหมาแบบมีเงื่อนไขในช่วงรอ EIA ฉบับปรับปรุง สัญญาที่ 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30.21 กม. วงเงิน 9,348 ล้านบาท ต้องรอคำสั่งศาลอย่างเดียว ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ เหลือ สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม. ซึ่งเป็นช่วงโครงสร้างทับซ้อนกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่ยังต้องรอข้อสรุปแก้สัญญาสัมปทานของ ซี.พี.
ส่วนงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟ และจัดฝึกอบรมบุคลากร (สัญญา 2.3) อยู่ระหว่างออกแบบ
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวว่า รถไฟลาว-จีน เส้นทางนครหลวงเวียงจันทน์-บ่อเต็น ระยะทาง 414 กม. จีนวางแผนก่อสร้าง 4 ปี โดยเสร็จเร็วกว่ากำหนด 1 เดือน เพราะพยายามทำเส้นทางให้ตรง ผ่านภูเขาก็เจาะอุโมงค์ ผ่านเหวก็ทำสะพาน มองแล้วอาจจะเห็นว่าแพง แต่ในระยะยาวเป็นแนวทางที่ค่าใช้จ่ายต่ำกว่า เพราะเส้นทางสั้นและใช้เวลาเดินทางน้อยลง สำหรับการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-หนองคาย ของไทย ถือว่าไม่ได้ล่าช้าอะไร หากเปรียบเทียบ รถไฟลาวระยะทางกว่า 400 กม.เป็นทางเดี่ยว ก่อสร้าง 4 ปี รถไฟของไทยระยะทางกว่า 600 กม. เป็นระบบทางคู่ ซึ่งไทยกำหนดเสร็จเปิดบริการปี 2572 ผมว่าไม่ได้ล่าช้า “ปัญหาคือ ไทยเป็นทางคู่ ทางลาวเป็นทางเดี่ยว จะเกิดคอขวดขึ้นในอนาคต
“ลาวบอกว่าจะพัฒนาประเทศจาก Landlocked หรือประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล เป็น Land link เชื่อมโยงจากจีนลงด้านใต้ สู่อาเซียนต้องผ่านลาว ซึ่งประเทศไทยก็เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทาง ดังนั้น ทั้งไทย ลาว มาเลเซีย สิงคโปร์ ดำเนินการในแนวทางเดียวกันเพื่อเชื่อมต่ออย่างสมบูรณ์และไม่เกิดคอขวดการขนส่งสามารถวิ่งทะลุและเช็คสินค้าที่ต้นทางและปลายทางเท่านั้น ไม่ต้องตรวจกันหลายครั้ง ซึ่งทำให้ลดต้นทุนได้อย่างแท้จริง”
ทั้งนี้ ตามแผนภายในปี 2565 จะพัฒนาสถานีรถไฟหนองคายและติดตั้ง โมบาย เอ็กซ์เรย์ สำหรับตรวจสินค้า ปี 2569 เปิด บริการรถไฟไทย-จีน ระยะ 1(กรุงเทพ-นครราชสีมา) ,เปิดบริการรถไฟทางคู่ ช่วง ขอนแก่น-หนองคาย ,ก่อสร้างสะพานแห่งใหม่เสร็จ ปี 2571 เปิดบริการรถไฟไทย-จีน ระยะ 2 (นครราชสีมา-หนองคาย) และเปิดบริการย่านสถานีนาทา”ศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าทางราง “
ไทยเริ่มก่อสร้างถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) เมื่อ ธ.ค. 2560 ปรับแผนล่าสุดกำหนดเปิดปี 2569 ปัจจุบันมีผลงานก่อสร้าง 15.49 % ใช้เวลาเกือบ 5 ปี ประเมินงานที่เหลือกับเวลาอีก 4 ปี เชื่อว่าคงต้องปรับแผนกันอีกหลายรอบ ตามสไตล์ไทยแลนด์!!!