xs
xsm
sm
md
lg

อินเดียทุ่มงบ $3.7 พันล้านสร้างรั้วกั้นตลอดแนวพรมแดนพม่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - อินเดียวางแผนใช้งบประมาณเกือบ 3,700 ล้านดอลลาร์ สร้างรั้วกั้นชายแดนพม่าที่มีความยาว 1,610 กิโลเมตร ภายในระยะเวลาประมาณ 10 ปี แหล่งข่าวที่ทราบเรื่องนี้กล่าว และระบุว่าเพื่อป้องกันการลักลอบและกิจกรรมผิดกฎหมายต่างๆ

นิวเดลีกล่าวเมื่อต้นปีว่าพวกเขาจะสร้างรั้วกั้นชายแดน และยุตินโยบายข้ามแดนโดยไม่ต้องขอวีซ่าที่ดำเนินมานานหลายทศวรรษกับพม่าที่มอบให้กพลเมืองที่อยู่ตามแนวชายแดน ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงของชาติ และเพื่อรักษาโครงสร้างประชากรของภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ

เมื่อต้นเดือน คณะกรรมการได้อนุมัติค่าใช้จ่ายสำหรับการสร้างรั้วที่ต้องได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี แหล่งข่าวที่ปฏิเสธจะเปิดเผยชื่อเนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตให้พูดคุยกับสื่อ กล่าว

สำนักนายกรัฐมนตรี และกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ ตลอดจนกระทรวงข้อมูลและการแพร่ภาพกระจายเสียง ไม่ได้ตอบกลับอีเมลที่รอยเตอร์ติดต่อเพื่อขอความคิดเห็น

และจนถึงขณะนี้พม่ายังคงไม่ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแผนการสร้างรั้วของอินเดีย

นับตั้งแต่เกิดรัฐประหารในพม่าในปี 2564 พลเรือนหลายพันคนและทหารหลายร้อยนายได้หลบหนีออกจากพม่าเข้าไปยังรัฐของอินเดีย ที่ผู้คนทั้งสองฝ่ายมีความสัมพันธ์ทางชาติพันธุ์และครอบครัวร่วมกัน ซึ่งสิ่งนี้สร้างความกังวลให้นิวเดลี เนื่องจากมีความเสี่ยงที่ความตึงเครียดในชุมชนจะแพร่กระจายในอินเดีย

สมาชิกบางคนในรัฐบาลอินเดียยังกล่าวโทษชายแดนที่เต็มไปด้วยช่องโหว่ว่าทำให้สถานการณ์ตึงเครียดในรัฐมณีปุระ ที่มีชายแดนติดกับพม่าตึงเครียดยิ่งขึ้น เป็นเวลาเกือบปี ที่รัฐมณีปุระต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่คล้ายสงครามกลางเมืองระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ 2 กลุ่ม ที่กลุ่มหนึ่งมีเชื้อสายเดียวกันกับชนเผ่าชินของพม่า

คณะกรรมการเจ้าหน้าที่อาวุโสของอินเดียยังตกลงที่จะสร้างถนนคู่ขนานตามแนวรั้วและถนนสายรองระยะทาง 1,700 กิโลเมตร เชื่อมระหว่างฐานทัพทหารกับชายแดน แหล่งข่าวระบุ

แหล่งข่าวระบุว่า รั้วและถนนที่อยู่ติดกันนี้จะมีค่าใช้จ่ายเกือบ 125 ล้านรูปีต่อกิโลเมตร ซึ่งมากกว่าค่าใช้จ่ายสำหรับการสร้างรั้วชายแดนติดบังกลาเทศที่สร้างในปี 2563 ซึ่งอยู่ที่ 55 ล้านรูปีต่อกิโลเมตรเท่านั้น เนื่องจากภูมิประเทศเป็นเนินเขาและการใช้เทคโนโลยีป้องกันการบุกรุกและการกัดกร่อน.
กำลังโหลดความคิดเห็น