MGR Online - รัฐมณีปุระ ของอินเดีย ยอมผ่อนปรนเปิดช่องทางการค้าชายแดนโมเรห์-ตะมู ตรงข้ามภาคสะกายของพม่าเป็นบางจุด เพื่อนำเข้าผลผลิตทางการเกษตรที่กำลังขาดแคลนอย่างหนัก หลังปิดตายตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 จากปัญหาขัดแย้งภายในระหว่างชาติพันธุ์ที่ลามยาวข้ามปี
Voice of Myanmar รายงานว่า ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม 2567 เป็นต้นมา ทางการท้องถิ่นเมืองโมเรห์ รัฐมณีปุระ รัฐชายแดนด้านตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ได้ตัดสินใจผ่อนปรน โดยเปิดช่องทางการค้าที่เชื่อมต่อกับเมืองตะมู ภาคสะกาย ของพม่า รวม 4 ช่องทาง เพื่อนำเข้าสินค้าจำเป็นหลายรายการซึ่งกำลังขาดแคลนอย่างหนักอยู่ในฝั่งอินเดีย หลังจากด่านการค้าชายแดนโมเรห์-ตะมู ได้ถูกปิดตายมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2567
4 ช่องทางการค้าที่ผ่อนปรนให้เปิดขึ้นใหม่ ประกอบด้วย ช่องทางกูมา ช่องทางเดวิด ช่องทางชีวา และช่องทางแปตาน แต่ละช่องทางเปิดไม่พร้อมกัน และกำหนดเวลาเปิดปิดไม่ตรงกัน บางช่องทางเปิดเพียงช่วง 06.00-09.00 น. บางช่องทางเปิดตั้งแต่ 06.00-13.00 น. โดยผู้ค้าชายแดนจะรู้กันเอง หรือสอบถามกันเองว่าแต่ละวันมีช่องทางใดที่เปิดบ้าง และเปิดในช่วงเวลาใด
สาเหตุหลักที่ทางการโมเรห์ตัดสินใจเปิดช่องทางการค้าเหล่านี้ เนื่องจากประชาชนได้รับความเดือดร้อนเพราะขาดแคลนสินค้าการเกษตรที่จำเป็น ซึ่งตามปกติต้องนำเข้าจากฝั่งพม่าเป็นส่วนใหญ่ เช่น ถั่วชนิดต่างๆ หอม กระเทียม หมาก พลู ดังนั้นจึงจำเป็นต้องผ่อนปรนให้พ่อค้าสินค้าเกษตรจากพม่า สามารถเดินทางข้ามชายแดนเพื่อนำผลผลิตเหล่านี้ไปขายให้พ่อค้าในฝั่งอินเดียได้เป็นช่วงๆ
ก่อนหน้านี้ ทางการรัฐมณีปุระได้ตัดสินใจปิดด่านชายแดนโมเรห์-ตะมู เนื่องจากสถานการณ์ตึงเครียดที่เกิดขึ้นในประเทศอินเดียเอง จากความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ที่ปะทุรุนแรงต่อเนื่องยาวนานข้ามปี จนขยายวงกลายเป็นสงครามระหว่างเผ่าพันธุ์แพร่ลามไปทั่วชายแดนด้านตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย
สถานการณ์ดังกล่าวเริ่มจากในต้นเดือนพฤษภาคม 2566 ได้เกิดความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ระหว่างชาวเมเตซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ในรัฐมิโซรัม กับชนชาติพันธุ์ที่อาศัยบนพื้นที่สูง ได้แก่ ชาวชิน ชาวมิโซ ชาวโซมิ และชาวกูกิ ทำให้เกิดเป็นสงครามภายใน มีผู้เสียชีวิตนับร้อยคน บาดเจ็บอีกนับพันคน อีกกว่า 60,000 คน ต้องไร้ที่อยู่อาศัย
รัฐมิโซรัมอยู่ทางใต้ของรัฐมณีปุระและอยู่ตรงข้ามกับรัฐชินของพม่า อย่างไรก็ตาม ชาวชิน ชาวมิโซ ชาวโซมิ และชาวกูกิ ชาติพันธุ์คู่ขัดแย้งกับชาวเมเตในรัฐมิโซรัม กลับเป็นประชากรส่วนใหญ่ของรัฐชิน ทำให้ความขัดแย้งขยายวงข้ามพรมแดน 2 ประเทศ นอกจากนี้ ประชาชนจำนวนมากจากรัฐมิโซรัมที่ได้รับความเดือดร้อนจากความขัดแย้งนี้ ได้อพยพขึ้นไปตั้งค่ายพักพิงชั่วคราวในรัฐมณีปุระที่อยู่ตรงข้ามกับภาคสะกายของพม่า ทำให้ความตึงเครียดแพร่ลามขึ้นไปในรัฐมณีปุระและชายแดนที่อยู่ตรงข้ามกับภาคสะกายด้วย
ก่อนหน้าความขัดแย้งเริ่มต้น อินเดียกับพม่าเคยมีข้อตกลงที่เรียกว่า Free Movement Regime (FMR) ซึ่งทั้ง 2 ประเทศทำร่วมกันไว้ตั้งแต่เมื่อปี 1970 หรือ พ.ศ.2513 ที่อนุญาตให้ประชาชนจาก 2 ประเทศสามารถเดินทางข้ามเส้นพรมแดนไปมาหาสู่กันได้อย่างอิสระภายในระยะทาง 16 กิโลเมตรของแต่ละฝั่ง โดยใช้บัตรผ่านแดนซึ่งมีอายุ 1 ปี และผู้ที่ข้ามชายแดนไปแล้วสามารถพักอาศัยอยู่ฝั่งตรงข้ามได้นานสูงสุด 14 วัน
ชายแดนอินเดีย-พม่า ยาว 1,643 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่รัฐมิโซรัม รัฐมณีปุระ รัฐนาคาแลนด์ และรัฐอรุณาจัลประเทศ ในฝั่งอินเดีย ส่วนฝั่งพม่าประกอบด้วย รัฐชิน ภาคสะกาย และรัฐคะฉิ่น โดยมีด่านโมเรห์-ตะมู เป็นประตูการค้าที่สำคัญที่สุดของทั้ง 2 ประเทศ
ต่อมาข้อตกลง FMR ได้ถูกระงับชั่วคราวในเดือนมีนาคม 2563 เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 กระทั่งเกิดการรัฐประหารในพม่าเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ทำให้มีการปิดชายแดนของ 2 ประเทศต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน
หลังความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์ในอินเดียแพร่ลามจากรัฐมิโซรัมขึ้นไปยังรัฐมณีปุระ เดือนกันยายน 2566 เอ็น.บิเรน ซิงห์ มุขมนตรีรัฐมณีปุระ ได้ประกาศยกเลิกข้อตกลง FMR ในรัฐมณีปุระ ทำให้การค้าระหว่างอินเดียกับพม่า ที่ด่านชายแดนโมเรห์-ตะมู ทำได้ลำบากมากขึ้น จากนั้นต้นเดือนมกราคม 2567 รัฐบาลอินเดียมีนโยบายยกเลิกข้อตกลง FMR ตลอดแนวชายแดนยาว 1,643 กิโลเมตร กำหนดให้ทุกคนที่ต้องการเดินทางข้ามชายแดนจากนี้ไปต้องใช้พาสปอร์ตและต้องขอวีซ่า ทำให้การค้าชายแดนที่ด่านโมเรห์-ตะมูต้องหยุดไปโดยถาวร
กระทั่งชาวบ้านในฝั่งอินเดียที่เมืองโมเรห์เอง ต้องได้รับความเดือดร้อนเพราะขาดแคลนสินค้าจำเป็นหลายรายการ ทางการท้องถิ่นเมืองโมเรห์จึงได้ตัดสินใจผ่อนปรนเปิดช่องทางการค้าชั่วคราว 4 จุด ให้พ่อค้าจากฝั่งพม่าได้นำสินค้าข้ามชายแดนไปขายได้ดังกล่าว.