MGR Online - รัฐบาลอินเดียลงนามข้อตกลงสนับสนุนเงินทุนสร้างด่านบูรณาการชายแดนในฝั่งเมืองตามู ภาคสะกาย ของพม่า หวังกระตุ้นการค้า การเดินทางท่องเที่ยวของประชาชน 2 ประเทศให้คึกคักขึ้น
วันที่ 20 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา สถานทูตอินเดีย ประจำพม่า ได้เผยแพร่ภาพพิธีลงนามข้อตกลงสนับสนุนเงินทุนสำหรับสร้างด่านบูรณาการ (Integrated Check-Post : ICP) ชายแดนพม่า-อินเดีย ระหว่างกระทรวงก่อสร้างพม่า และสถานทูตอินเดีย ณ กรุงย่างกุ้ง โดยพิธีเซ็นข้อตกลงครั้งนี้ทำขึ้นเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2565
เนื้อหาในข้อตกลง ทางการอินเดียจะสนับสนุนเงินทุนในการสร้าง ICP แห่งใหม่ในฝั่งเมืองตามู ภาคสะกาย ของพม้า เพื่อสนับสนุนการค้าชายแดน และการเดินทางท่องเที่ยวข้ามแดนของประชาชน 2 ประเทศ โดยก่อนหน้านี้ อินเดียได้สร้าง ICP แห่งใหม่ไว้ในเมืองโมเรห์ รัฐมณีปุระ ที่อยู่ตรงข้ามกับเมืองตามู เสร็จเรียบร้อยแล้ว
ชายแดนตามู-โมเรห์ เป็นช่องทางที่มีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจระหว่างพม้าและอินเดีย ทั้งด้านการค้าขาย การเดินทาง และท่องเที่ยว โดยการค้าขายข้ามแดนของพม้ากับอินเดียใช้ชายแดนด้านนี้เป็นช่องทางหลัก
ข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงพาณิชย์พม้า ระบุว่า ปีงบประมาณ 2565-2566 ที่รัฐบาลพม่าเพิ่งปรับใหม่ให้เริ่มต้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2565 เป็นต้นมา จนถึงวันที่ 9 กันยายน 2565 การค้าระหว่างพม่ากับอินเดียผ่านช่องทางตามู-โมเรห์ มีมูลค่า 8.335 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าระยะเดียวกันของปี 2564-2565 ที่มีมูลค่าเพียง 2.843 ล้านดอลลาร์
พม่าเป็นฝ่ายส่งสินค้าออกมากกว่า คิดเป็นมูลค่า 5.361 ล้านดอลลาร์ ขณะที่นำเข้าเพียง 2.974 ล้านดอลลาร์ ส่วนระยะเดียวกันของปีก่อนหน้า พม่าส่งออกผ่านช่องทางตามู-โมเรห์ 2.359 ล้านดอลลาร์ นำเข้า 4.84 แสนดอลลาร์
ด่านชายแดนตามู-โมเรห์ ยังเป็นปลายทางของเส้นทางหลวงเอเชียหมายเลข 1(AH1) ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมหลักของระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) ที่เริ่มต้นจากท่าเรือดานัง ประเทศเวียดนาม ผ่านแขวงสะหวันนะเขต ของลาว เข้าสู่ประเทศไทยที่จังหวัดมุกดาหาร และข้ามมาออกที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
เส้นทาง AH1 เข้าสู่พม่าที่เมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ผ่านรัฐมอญ ภาคพะโค กรุงเนปีดอ ภาคมัณฑะเลย์ จนไปสิ้นสุดที่ชายแดนเมืองตามู ในภาคสะกาย.