MGR Online - รมว.ต่างประเทศอินเดียกระตุ้นพม่าให้เคลียร์ปัญหาภายในเพื่อเดินหน้าสร้างทางด่วนเชื่อม 3 ประเทศ ระยะทาง 1,600 กิโลเมตร จากชายแดนโมเรห์ รัฐมณีปุระ มาอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก หลังชะงักมาตั้งแต่รัฐประหาร
วันอาทิตย์ที่ 16 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา ดร.สุพรหมยัม ชัยศังกร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐอินเดีย ได้เป็นประธานร่วมในการประชุมกรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง-คงคา (MGC) ที่กรุงเทพฯ โดยผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย อู ตานส่วย รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า นายสะเหลิมไซ กมมะสิด รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ สปป.ลาว และทีมงานที่เกี่ยวข้อง
หัวข้อการประชุม ประกอบด้วย การจัดตั้งสภาธุรกิจ MGC เพื่อผลักดันความร่วมมือระหว่างกันด้านเศรษฐกิจ สำรวจความเป็นหุ้นส่วนด้านการพัฒนาในสาขาใหม่ๆ ผ่านโครงการที่ให้ผลเร็ว (Quick Impact Projects) ขยายขอบเขตการแลกเปลี่ยนด้านการเกษตร วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการจัดการทรัพยากรน้ำ โดยมีวาระที่สำคัญ ได้แก่ การเร่งรัดโครงการทางด่วน 3 ประเทศ อินเดีย-พม้า-ไทย และเร่งหาบทสรุปข้อตกลงยานยนต์ 3 ประเทศ
ก่อนเริ่มประชุม MGC อย่างเป็นทางการ ดร.สุพรหมยัม ชัยศังกร ได้พบและหารือนอกรอบกับ อู ตานส่วย เกี่ยวกับโครงการทางด่วน 3 ประเทศสายนี้โดยเฉพาะ เพราะถือเป็นโครงการที่กำลังเผชิญกับความท้าทายอย่างหนักจากสถานการณ์ความขัดแย้งที่กำลังดำเนินอยู่ในพม่า โดยเน้นย้ำความสำคัญในการสร้างสันติภาพและเสถียรภาพในพื้นที่ชายแดนอินเดีย-พม่า หลีกเลี่ยงการกระทำที่จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง รวมถึงข้อกังวลในประเด็นการค้ามนุษย์และยาเสพติด
อย่างไรก็ตาม ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดผลการหารือที่เป็นรูปธรรม ในการเร่งรัดโครงการทางด่วนอินเดีย-พม่า-ไทย หลังเสร็จสิ้นการประชุมครั้งนี้
รัฐบาลอินเดีย พม่า และไทย มีข้อตกลงร่วมกันตั้งแต่เมื่อเดือนธันวาคม 2562 ว่าจะสร้างทางด่วนเชื่อม 3 ประเทศ ระยะทางประมาณ 1,600 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นจากชายแดนเมืองโมเรห์ รัฐมณีปุระ ของอินเดีย เข้ามาภาคสะกายของพม่า ผ่านภาคมัณฑะเลย์ กรุงเนปีดอ ภาคพะโค รัฐมอญ รัฐกะเหรี่ยง โดยมีปลายทางที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
ทางด่วนสายนี้นอกจากเป็นเส้นทางที่ใช้ขนส่งสินค้าที่ 3 ประเทศมีการซื้อขายกันระหว่างกันแล้ว ยังเป็นประตูที่เชื่อมอินเดียเข้ากับกลุ่มประเทศอาเซียน โดยที่อำเภอแม่สอดยังเป็นชุมทางให้ทางด่วนสายนี้เชื่อมต่อเข้ากับโครงข่ายถนนของระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (EWEC) ที่เริ่มจากแม่สอดสู่ชายแดนจังหวัดมุกดาหาร ข้ามแม่น้ำโขงเข้าลาว ที่แขวงสะหวันนะเขต และต่อไปถึงชายฝั่งทะเลที่ท่าเรือดานัง ของเวียดนาม
เมื่อรัฐบาล 3 ประเทศมีข้อตกลงร่วมกันแล้ว ได้เริ่มการก่อสร้างบางส่วนในปี 2563 โดยเฉพาะการสร้างและซ่อมแซมสะพานในพม่าที่ถูกสร้างไว้ตั้งแต่ยุคอาณานิคม จำนวน 73 แห่ง โดยรัฐบาลอินเดียเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ อย่างไรก็ตาม หลังเกิดการรัฐประหารในพม่า เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 การก่อสร้างทางด่วนสายนี้ได้หยุดชะงักลง.