เอเอฟพี - เวียดนามเผชิญกับการสูญเสียพืชผลเป็นมูลค่าเกือบ 3,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี เนื่องจากน้ำเค็มไหลลงสู่พื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น สื่อของรัฐรายงานวันนี้ (17) โดยอ้างอิงงานวิจัยชิ้นใหม่
ความเสียหายน่าจะมีศูนย์กลางอยู่ที่บริเวณพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง หรือที่เรียกกันว่าอู่ข้าวอู่น้ำของเวียดนาม เนื่องจากเป็นแหล่งอาหารและความเป็นอยู่ของผู้คนหลายสิบล้านคน ผลการวิจัยจากกระทรวงสิ่งแวดล้อมของประเทศระบุ
ระดับน้ำเค็มมักจะสูงขึ้นในช่วงฤดูแล้ง แต่จะรุนแรงขึ้นเมื่อระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ความแห้งแล้ง ความผันผวนของกระแสน้ำ และการขาดแคลนน้ำจืดจากต้นน้ำ
สื่อของรัฐรายงานว่าการสูญเสียพืชผลที่เกิดขึ้นอาจมีมูลค่าถึง 70 ล้านล้านด่ง (2,940 ล้านดอลลาร์) โดยอ้างอิงงานวิจัยชิ้นใหม่จากสถาบันวิทยาศาสตร์ทรัพยากรน้ำ ที่อยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงสิ่งแวดล้อม
งานวิจัยพบว่าในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดของภูมิภาคคือ จ.ก่าเมา ที่อยู่ทางตอนใต้สุด ที่อาจสูญเสียมากถึง 665 ล้านดอลลาร์
ขณะที่ จ.เบ๊นแจ อาจเผชิญกับความสูญเสียประมาณ 472 ล้านดอลลาร์ ตามการศึกษาที่เสนอในที่ประชุมการจัดการทรัพยากรน้ำเมื่อวันศุกร์ (15) ที่ผ่านมา
“ด้วยสถานการณ์ในปัจจุบัน ไม้ผลคิดเป็นร้อยละ 29 ของความเสียหายในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ขณะที่พืชไร่คิดเป็นร้อยละ 27 และข้าวคิดเป็นเกือบร้อยละ 14 ส่วนอุตสาหกรรมประมง ร้อยละ 30 ซึ่งเทียบเท่ากับมูลค่ามากกว่า 21 ล้านล้านด่ง (840 ล้านดอลลาร์)” รายงานระบุ
การศึกษาระบุว่าภูมิภาคนี้จะเผชิญกับความสูญเสียมากขึ้นในอนาคต โดยเพิ่มขึ้นมากกว่า 3,100 ล้านดอลลาร์
เมื่อต้นเดือน กรมทรัพยากรน้ำเตือนว่าการรุกล้ำของน้ำเค็มอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ปลูกข้าวและสวนผลไม้ประมาณ 80,000 เฮกตาร์ ในเขตพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง
ศูนย์อุตุนิยมวิทยา-อุทกวิทยาแห่งชาติระบุว่า การรุกล้ำของน้ำเค็มในพื้นที่ระหว่างปี 2566-2567 สูงกว่าค่าเฉลี่ย และเขตพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงเผชิญกับปัญหาคลื่นความร้อนที่ยาวนานผิดปกติในเดือน ก.พ. ซึ่งนำไปสู่ภัยแล้งในหลายพื้นที่และระดับน้ำตามลำคลองลดต่ำลง.