xs
xsm
sm
md
lg

เป็นไปได้? รมช.ศึกษาฯ ลาว อ้างสร้างรถไฟ "จีน-ลาว-สิงคโปร์" ได้โดยไม่ผ่านไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


บทวิเคราะห์ของรองรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการลาว เสนอสร้างทางรถไฟไปสิงคโปร์ โดยไม่ผ่านไทย
MGR Online - รองรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ สปป.ลาว เขียนบทวิเคราะห์พร้อมเสนอแนวสร้างทางรถไฟเส้นใหม่ จีน-ลาว-กัมพูชา ข้ามทะเลจากแหลมก่าเมา เวียดนาม ไปมาเลเซีย ปลายทางอยู่ที่สิงคโปร์โดย "ไม่เสียเวลาผ่านไทย"

เช้าวันนี้ (9 ธ.ค.) นายสุลิอุดง สุนดาลา รองรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการและกีฬา สปป.ลาว ได้เขียนบทวิเคราะห์ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว Sourioudong Sundara โดยมีหัวข้อว่า "ศึกษา วิเคราะห์ ข้อมูล เสนอเส้นทางรถไฟใหม่จาก สปป.ลาว ไปสิงคโปร์ โดยไม่เสียเวลาผ่านไทย" มีรายละเอียดของเนื้อหาดังนี้

สุลิอุดง สุนดาลา รองรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการและกีฬา สปป.ลาว
หนึ่ง-มีความเป็นไปได้สูงด้วยหลายเหตุผล คือ

1.การสร้างเส้นทางรถไฟฟ้า จีน-ลาว ได้สำเร็จแล้วด้วยคุณภาพและประสิทธิผลสูง สามารถเชื่อมต่อสู่ระบบเครือข่าย หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง ไปสู่ยุโรปผ่านรัสเซีย

2.ประสบการณ์ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักร และบทเรียนจากนครคุนหมิง สป.จีน ถึงนครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ได้มีความพร้อมสูงสุดที่จะสร้างจากนครหลวงเวียงจันทน์ สู่นครหลวงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา (สามารถเสนอราคาก่อสร้างลดลงครึ่งหนึ่ง 50% จากราคาก่อสร้างในภาคเหนือ เพราะว่าไม่จำเป็นต้องขุดอุโมงค์ และสร้างทางยกระดับ)

3.การก่อสร้างจากนครหลวงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา ได้มีการศึกษาความเป็นไปได้ด้านเทคนิค วิชาการ เพื่อสร้างสะพานข้ามทะเล เชื่อมไปถึงประเทศมาเลเซีย 

และ 4.การสร้างรถไฟความเร็วสูงภายในประเทศมาเลเซียได้สร้างสำเร็จ และเปิดให้บริการแล้ว ในเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา (โครงการความร่วมมือและลงทุน หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง สป.จีน-มาเลเซีย)

สอง-สังคมออนไลน์ในจีนได้มีการออกข่าวเกี่ยวกับการสร้างทางรถไฟจีน-สิงคโปร์ โดยไม่ผ่านประเทศไทย ซึ่งเส้นทางที่จะสร้างใหม่นี้จะสั้นกว่า ทำง่ายกว่า ผ่านหลายประเทศกว่า เชื่อถือไว้ใจกันได้มากกว่า ซึ่งก็คือ ผ่านลงทางภาคใต้ของลาว เข้าประเทศกัมพูชา (ผ่านนครหลวงพนมเปญ) ออกไปภาคใต้ของเวียดนาม ข้ามทะเลที่แหลมก่าเมา สร้างสะพานข้ามปากอ่าวไทย ไปขึ้นฝั่งที่รัฐกลันตัน ของมาเลเซีย ทะลุถึงช่องแคบแล้วข้ามไปถึงสิงคโปร์

ภายหลังบทความนี้ถูกโพสต์ขึ้นได้ไม่นาน มีคนลาวจำนวนมากได้แสดงความรู้สึกชื่นชอบ เข้ามาแสดงความคิดเห็นว่าเห็นด้วยกับโครงการนี้ และส่งต่อบทความนี้จนแพร่หลายออกไปอย่างกว้างขวาง.

แนวทางเบื้องต้นตามข้อเสนอของสุลิอุดง สุนดาลา


กำลังโหลดความคิดเห็น