xs
xsm
sm
md
lg

กองทัพพม่าเสียเปรียบหลายแนวรบจากการประสานงานโจมตีทั่วประเทศ จุดประกายความหวังฝ่ายต่อต้านโค่นล้มรัฐบาลทหาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอพี - การโจมตีครั้งใหญ่ต่อรัฐบาลทหารของกลุ่มพันธมิตร 3 กลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศกำลังดำเนินไปอย่างรวดเร็ว และได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กองกำลังต่อต้านกลุ่มต่างๆ ทั่วประเทศให้เปิดฉากการโจมตีครั้งใหม่

เนื่องจากกองทัพพม่าถอยทัพเกือบทุกแนวรบ จึงมีความหวังเพิ่มขึ้นในหมู่ฝ่ายตรงข้ามที่มองว่าสิ่งนี้อาจเป็นจุดเปลี่ยนในการต่อสู้เพื่อโค่นล้มผู้นำกองทัพที่ขับไล่อองซานซูจี ผู้นำที่ได้รับเลือกตามระบอบประชาธิปไตย เมื่อเกือบ 3 ปีก่อน

“ปฏิบัติการในตอนนี้เป็นโอกาสที่ดีเยี่ยมที่จะเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ทางการเมืองในพม่า” เล จาร์ วิน โฆษกของกองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติพม่า (MNDAA) หนึ่งใน 3 กลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยที่เปิดฉากการโจมตีในวันที่ 27 ต.ค. ระบุ

การโจมตีที่มีชื่อเรียกว่า ‘ปฏิบัติการ 1027’ ทำให้กองทัพเสียฐานไปแล้วกว่า 180 แห่ง รวมถึงฐานทัพหลัก 4 แห่ง และจุดผ่านแดนสำคัญทางเศรษฐกิจกับจีน 4 แห่ง

ทั้ง 2 ฝ่ายต่างอ้างว่าได้สร้างความเสียหายอย่างหนักให้อีกฝ่ายหนึ่ง แม้ว่าจะไม่มีตัวเลขผู้เสียชีวิตที่แน่ชัดก็ตาม แต่มีพลเรือนเกือบ 335,000 คน ต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นจากการสู้รบในปัจจุบัน ซึ่งส่งผลให้มีผู้พลัดถิ่นทั่วประเทศมากกว่า 2 ล้านคน ตามการระบุของสหประชาชาติ

“สำหรับฝ่ายรัฐบาลนี่เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดที่เผชิญมานับตั้งแต่ช่วงแรกๆ ของการรัฐประหาร” ริชาร์ด ฮอร์ซีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพม่าของ International Crisis Group กล่าว

เรื่องที่ซับซ้อนสำหรับกองทัพคือ สิ่งที่ดูเหมือนเป็นการสนับสนุนโดยปริยายของจีนต่อพันธมิตรสามภราดรภาพ ที่เกิดขึ้นอย่างน้อย บางส่วนมาจากความไม่พอใจของปักกิ่งที่ขยายตัวขึ้นต่อการค้ายาเสพติดตามแนวชายแดนและการแพร่ระบาดของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในพม่าที่ฉ้อโกงทางออนไลน์ ที่มักดำเนินการโดยกลุ่มอาชญากรชาวจีนกับคนงานที่ถูกค้ามนุษย์จากจีนหรือประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค

ในขณะที่ปฏิบัติการ 1027 เริ่มโจมตี ชาวจีนหลายพันคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในอาชญากรรมดังกล่าวถูกส่งตัวกลับประเทศ  ทำให้จีนมีเหตุผลไม่มากที่จะกดดันกลุ่มภราดรภาพให้หยุดการต่อสู้

“หากพวกเขาต้องการหยุดยิงจริงๆ พวกเขาก็มีอำนาจในการบังคับได้ แต่พวกเขาไม่ทำอย่างนั้น นั่นคือสิ่งที่ต้องการจะบอก” ฮอร์ซีย์ กล่าว

กองทัพยังคงมีกำลังพลมากกว่าและได้รับการฝึกมาดีกว่ากองกำลังต่อต้าน และมีอาวุธ กำลังทางอากาศ และกระทั่งกองทัพเรือที่จะต่อสู้กับกองกำลังอาวุธเบาที่จัดตั้งโดยกลุ่มชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ต่างๆ แต่จากการสูญเสียอย่างรวดเร็ว และเป็นวงกว้างอย่างไม่คาดคิด รวมถึงการต่อสู้ที่ยืดเยื้อ ทำให้ขวัญกำลังใจของฝ่ายทหารลดลง โดยยอมจำนนและแปรพักตร์มากขึ้น ทำให้ฝ่ายต่อต้านมีความหวัง

“ผมอยากบอกว่าการปฏิวัติได้ก้าวไปสู่อีกระดับหนึ่งแล้ว” เนย์ โพน ลัต โฆษกของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) กล่าว

เมื่อวันที่ 1 ก.พ.2564 การยึดอำนาจของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ทำให้ผู้ชุมนุมประท้วงหลายพันคนลงถนนตามเมืองต่างๆ ของพม่า ผู้นำทหารตอบโต้ด้วยการปราบปรามอย่างรุนแรงโหดร้าย และจับกุมผู้คนมากกว่า 25,000 คน และสังหารไปกว่า 4,200 คน ตามการระบุของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง




ยุทธวิธีรุนแรงของกองทัพนำไปสู่การก่อตั้งกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) ที่เป็นกองกำลังติดอาวุธที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) หลายกลุ่มได้รับการฝึกฝนจากกองกำลังติดอาวุธชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ ที่กองทัพต่อสู้อยู่ในพื้นที่ชายแดนของประเทศมานานหลายปี

แต่การต่อต้านขยายตัวเป็นวงกว้างจนกระทั่งเกิดปฏิบัติการ 1027 ที่กลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ 3 กลุ่ม คือ กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติพม่า และกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง ในรัฐชานเหนือ และกองทัพอาระกัน ในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของประเทศ ที่ผสานกำลังรวมกันได้ราว 10,000 คน ตามการประมาณของผู้เชี่ยวชาญ เปิดฉากโจมตีและเข้ายึดฐานทหารอย่างรวดเร็ว

การรับรู้ได้ถึงความอ่อนแอ และได้แรงบันดาลใจจากความสำเร็จในช่วงต้นของการโจมตี กองทัพเอกราชกะฉิ่นได้ดำเนินการโจมตีครั้งใหม่ในพื้นที่ของรัฐกะฉิ่นตอนเหนือ จากนั้นเข้าร่วมกับกองทัพอาระกันเพื่อช่วยนำกลุ่ม PDF เข้ายึดเมืองในภูมิภาคสะกาย ที่อยู่ตอนกลางของประเทศ พื้นที่สำคัญของกลุ่มชาติพันธุ์พม่าดั้งเดิมที่สนับสนุนกองทัพ

ในรัฐกะยา ทางด้านตะวันออก หรือที่รู้จักในชื่อกะเหรี่ยงแดง กลุ่มพันธมิตรของกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ได้เปิดการโจมตีของตนเอง โดยเริ่มโจมตีโดยตรงในวันที่ 11 พ.ย. ที่เมืองลอยก่อ เมืองเอกของรัฐ ที่กองทัพมีฐานบัญชาการระดับภูมิภาคตั้งอยู่

เพื่อให้การโจมตีโอบล้อมกองกำลังของกองทัพพม่าเป็นไปอย่างสมบูรณ์ กองทัพอาระกันได้โจมตีฐานทหารในรัฐยะไข่ ที่เป็นบ้านเกิดของพวกเขาในฝั่งตะวันตกของประเทศในวันที่ 13 พ.ย. ความสำเร็จของพวกเขาคืบหน้าไปอย่างช้าๆ โดยกองทัพพม่าตอบโต้กลับด้วยเรือจากนอกชายฝั่งตะวันตกระดมยิงโจมตีฐานที่มั่นต่างๆ พร้อมด้วยการโจมตีทางอากาศ และปืนใหญ่ ตามการรายงานของสถาบัน International Institute for Strategic Studies

“การต่อสู้ยังไม่จบสิ้น การโจมตีทางอากาศและการโจมตีด้วยปืนใหญ่ยังทวีความรุนแรงดุเดือดมากขึ้น” มอร์แกน ไมเคิล ผู้เขียนรายงานและดำเนินการโครงการ IISS Myanmar Conflict Map project กล่าว

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีการพูดถึงการกำจัดระบอบการปกครองโดยทหารให้พ้นไปจากประเทศ แต่การสู้รบส่วนใหญ่ยังเกี่ยวข้องกับการที่กลุ่มต่างๆ ยึดครองดินแดน ซึ่งเพิ่มความเป็นไปได้ที่กองทัพพม่าอาจยุติการสู้รบบางส่วนด้วยการให้สัมปทานขนาดใหญ่ มอร์แกน ไมเคิล กล่าว และเสริมว่า ความขัดแย้งในพม่าแตกต่างจากสงครามกลางเมืองในซีเรียที่หลายกลุ่มมีวัตถุประสงค์แตกต่างกันและมักจะขัดแย้งกัน แต่ในพม่านั้นกลุ่มต่อต้านทหารไม่ได้ต่อสู้กันเอง

“เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องย้ำว่าหลายกลุ่มมีเป้าหมายร่วมกันในการโค่นล้ม รื้อถอน หรือทำลายขีดความสามารถของการปกครองของทหาร” ไมเคิล กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น