เอเอฟพี - นักสู้ของฝ่ายต่อต้านการรัฐประหารของพม่ากำลังต่อสู้กับทหารเพื่อเข้าควบคุมเมืองเอกของรัฐกะยา ตามการระบุของทั้งสองฝ่าย
การปะทะกันที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วพม่าเข้าสู่สัปดาห์ที่ 4 แล้ว ซึ่งจุดชนวนจากการโจมตีอย่างไม่คาดคิดของกลุ่มพันธมิตรชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ตามพื้นที่ใกล้ชายแดนจีน
การโจมตีดังกล่าวได้จุดประกายให้ฝ่ายต่อต้านทหารกลุ่มอื่นๆ ทำให้การปะทะลุกลามไปยังพื้นที่ทางตะวันออกและตะวันตกของประเทศ เหตุการณ์ที่นักวิเคราะห์ระบุว่าเป็นความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดสำหรับรัฐบาลทหารนับตั้งแต่ทหารยึดอำนาจในปี 2564
กองกำลังป้องกันแห่งชาติกะเหรี่ยงแดง (KNDF) และนักสู้ของกองทัพกะเหรี่ยงแดง (KA) กำลังสู้รบอย่างดุเดือดกับทหารในเมืองลอยก่อ ประธานของ KNDF กล่าวกับเอเอฟพี และเสริมว่า KNDF KA และนักสู้ของกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) เข้าควบคุมได้หลายพื้นที่ แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม
ประธานของ KNDF ยังกล่าวว่าทหารต่อสู้จากฐานที่มั่นที่สถานีตำรวจหลักของเมือง และตามอาคารสำนักงานของรัฐต่างๆ
ซอ มิน ตุน โฆษกของรัฐบาลทหาร กล่าวว่านักสู้ของฝ่ายต่อต้านการรัฐประหารโจมตีเรือนจำเมืองลอยก่อเมื่อวันอังคาร แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่ม
เมืองลอยก่อ ที่เป็นเมืองเอกของรัฐกะยา ปกติแล้วมีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 50,000 คน
สหประชาชาติได้อพยพเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ออกจากเมืองลอยก่อ เนื่องจากการทิ้งระเบิดทางอากาศในเมือง และการสู้รบในเขตเมือง โฆษกของสหประชาชาติกล่าวกับเอเอฟพี
รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ที่ก่อตั้งขึ้นโดยสมาชิกสภานิติบัญญัติที่ถูกขับไล่ในการรัฐประหารปี 2564 กล่าวว่า มีการอพยพผู้คนทั้งหมด 228 คน โดยเป็นเจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติ เจ้าหน้าที่เอ็นจีโออื่นๆ และครอบครัวของพวกเขา
นักสู้ของฝ่ายต่อต้านการรัฐประหารยังเปิดฉากโจมตีด้วยโดรนที่สนามบิน 2 แห่งในภูมิภาคสะกาย ทางตอนเหนือ ห่างจากรัฐกะยาหลายร้อยกิโลเมตร ซอ มิน ตุน โฆษกของรัฐบาลทหารระบุ
เขาไม่ได้ระบุว่าการโจมตีดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิตหรือมีความเสียหายเกิดขึ้นหรือไม่
การต่อสู้ดุเดือดขึ้นตั้งแต่วันที่ 27 ต.ค. หลังกองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติพม่า (MNDAA) กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (TNLA) และกองทัพอาระกัน (AA) เปิดฉากโจมตีกองทัพใกล้ชายแดนทางตอนเหนือติดกับจีน
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กองทัพอาระกันได้เปิดการโจมตีครั้งใหญ่ต่อทหารในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของประเทศ
การเข้าถึงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบนั้นเป็นไปไม่ได้เนื่องจากการต่อสู้รุนแรง ซึ่งทำให้ยากต่อการยืนยันยอดผู้เสียชีวิตจากการปะทะกันในพื้นที่ต่างๆ แต่สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ ที่อ้างรายงานเบื้องต้นระบุว่า มีพลเรือนเสียชีวิตอย่างน้อย 75 คน รวมทั้งเด็ก และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 94 คนในการสู้รบ.