เอเอฟพี - สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ระบุว่า กองทัพพม่าเพิ่มความรุนแรงในการสังหารหมู่ การโจมตีทางอากาศ และการโจมตีด้วยปืนใหญ่ในช่วงปีที่ผ่านมา ในความพยายามที่จะปราบปรามการต่อต้านการรัฐประหาร
การขับไล่รัฐบาลอองซานซูจีในปี 2564 ของกองทัพก่อให้เกิดการตอบโต้ครั้งใหญ่ และเวลานี้กองทัพกำลังต่อสู้กับฝ่ายตรงข้ามอยู่ทั่วประเทศ
สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนพบ ‘ความรุนแรงทางทหารที่ดูเหมือนไม่สิ้นสุด’ ระหว่างเดือน เม.ย.2565 ถึงเดือน ก.ค.2566 รายงานล่าสุดเกี่ยวกับสถานการณ์ในพม่าของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนระบุ
จากข้อมูลและการสัมภาษณ์พบว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ที่รวมถึงการเพิ่มขึ้นของเหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป เจ้าหน้าที่สืบสวนได้บันทึกเหตุการณ์การสังหารหมู่ 10 คนขึ้นไปได้ถึง 22 เหตุการณ์ โวลเคอร์ เติร์ก ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนสหประชาชาติระบุ
OHCHR อ้างถึงเหตุการณ์การโจมตีทางอากาศใส่งานชุมนุมในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในฐานที่มั่นของฝ่ายต่อต้านเมื่อเดือน เม.ย.2565 ที่ระบุว่ามีผู้เสียชีวิตราว 150 คน และเหตุระเบิดเมื่อเดือน ต.ค. ที่งานแสดงคอนเสิร์ตที่จัดขึ้นโดยฝ่ายกบฏในรัฐกะฉิ่น ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายสิบคน
ทหารได้ก่อเหตุข่มขืนและวิสามัญฆาตกรรมผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กในหมู่บ้านที่ต้องสงสัยว่าให้ที่พักพิงหรือสนับสนุนนักสู้ของฝ่ายต่อต้านการรัฐประหาร กองกำลังทหารบางส่วนยังแสดงศพที่ถูกตัดศีรษะเพื่อข่มขวัญชาวบ้านในท้องถิ่น
นอกจากนี้ กองกำลังทหารของฝ่ายรัฐบาลยังจุดไฟเผาบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ เกือบ 24,000 หลังนับตั้งแต่ต้นปี 2566 ที่เป็นส่วนหนึ่งของ ‘ยุทธวิธี 4 ตัด’ เพื่อขัดขวางไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามเข้าถึงอาหาร เงินทุน ข่าวกรอง และสมาชิกใหม่ รายงานระบุ
ก่อนหน้านี้รัฐบาลทหารปฏิเสธรายงานของสื่อและผู้เห็นเหตุการณ์ที่ระบุว่ากองกำลังทหารของรัฐเผาหมู่บ้านต่างๆ และได้กล่าวโทษผู้ก่อการร้ายต่อต้านการรัฐประหารว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุวางเพลิงเหล่านั้น
กลุ่มสังเกตการณ์ท้องถิ่นระบุว่า มีประชาชนมากกว่า 24,000 คน ถูกจับกุมตัวในช่วงการปราบปรามผู้เห็นต่างของกองทัพ ขณะที่ OHCHR กล่าวว่าได้รับรายงานเกี่ยวกับการทรมาน ความรุนแรงทางเพศ และการเสียชีวิตในเรือนจำหรือระหว่างการย้ายเรือนจำอยู่เป็นประจำ
นักสู้ของฝ่ายต่อต้านการรัฐประหารยังกระทำการละเมิดสิทธิผ่านการสังหารพลเรือนแบบกำหนดเป้าหมายที่มีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับรัฐบาลทหาร แต่อย่างไรก็ตาม OHCHR ระบุว่าขนาดและความรุนแรงของฝ่ายต่อต้านยังไม่สามารถเทียบได้กับการละเมิดที่กระทำโดยกองทัพ
ความพยายามทางการทูตที่จะยุติความขัดแย้งที่นำโดยสหประชาชาติและสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องหยุดชะงักลง เนื่องจากกองทัพปฏิเสธที่จะมีส่วนร่วมกับฝ่ายตรงข้าม.