เอเอฟพี - ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ กล่าวว่าเขาจะเดินทางเยือนเวียดนาม ที่เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะปรับปรุงความสัมพันธ์กับฮานอย ในขณะที่วอชิงตันแสวงหาการตอบโต้อิทธิพลของจีนในภูมิภาค
“ผมจะเดินทางไปเวียดนามเร็วๆ นี้ เพราะเวียดนามต้องการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์ของเราและเป็นหุ้นส่วน” ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวระหว่างปราศรัยในนิวเม็กซิโก
“เราพบว่าตัวเราอยู่ในสถานการณ์ที่การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทั่วโลกกำลังเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เรามีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงพลวัต” ไบเดน กล่าว
สหรัฐฯ และเวียดนามเพิ่มความเชื่อมโยงทางการค้าใกล้ชิดมากขึ้น ขณะที่ทั้งสองประเทศแบ่งปันความวิตกกังวลเกี่ยวกับความแข็งแกร่งที่ขยายตัวขึ้นของจีนในภูมิภาค
ความขัดแย้งระหว่างปักกิ่งและชาติต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้นเป็นเวลาหลายปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวียดนามและฟิลิปปินส์ จากการอ้างสิทธิทางทะเลอย่างกว้างขวางของจีนในทะเลจีนใต้
วอชิงตันและฮานอยได้ให้คำมั่นในเดือน เม.ย. ว่าจะยกระดับความสัมพันธ์ทางการทูต เมื่อครั้งที่แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แวะเยือนระหว่างเดินทางไปร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่ม G7 ในญี่ปุ่น
“เราคิดว่านี่เป็นช่วงเวลาที่ดีในการยกระดับความเป็นหุ้นส่วนที่มีอยู่” บลิงเคนกล่าวกับนักข่าวระหว่างการเยือนพร้อมกับผู้นำเวียดนาม
“เรามีความร่วมมืออย่างครอบคลุมนี้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ที่ได้สร้างรากฐานของความร่วมมือที่แข็งแกร่งอย่างไม่น่าเชื่อในหลากหลายด้าน ด้วยเหตุนี้ เราคิดว่านี่เป็นช่วงเวลาที่ดีในการก้าวต่อไป” บลิงเคน กล่าว
รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ยังเข้าร่วมในพิธีวางศิลาฤกษ์สถานทูตสหรัฐฯ แห่งใหม่ในกรุงฮานอย
และในเดือน มี.ค. ไบเดนได้พูดคุยกับเหวียน ฝู จ่อง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม
อย่างไรก็ตาม วอชิงตันได้แสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเวียดนาม โดยบลิงเคน กล่าวว่า เขายังคงเน้นย้ำว่าความก้าวหน้าในอนาคตเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนมีความสำคัญต่อการปลดปล่อยศักยภาพของชาวเวียดนามอย่างเต็มที่
ทะเลจีนใต้ ศูนย์กลางของความตึงเครียดระหว่างจีนและเวียดนามมายาวนาน ถูกมองว่าเป็นชนวนระเบิด และหลายคนกลัวว่าการคำนวณผิดพลาดหรืออุบัติเหตุใดๆ อาจจุดชนวนความขัดแย้งทางทหารได้
นักวิเคราะห์กล่าวว่า ฮานอยอาจลังเลที่จะยกระดับความสัมพันธ์กับวอชิงตัน ระมัดระวังว่าจะทำให้ปักกิ่งไม่พอใจ ด้วยจีนนั้นเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่มีความสำคัญ แม้ทั้งคู่ต่างอ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้
สหรัฐฯ ไม่ได้อ้างสิทธิเหนือดินแดนในน่านน้ำดังกล่าว แต่ยืนยันที่จะดำเนินการลาดตระเวนในพื้นที่ ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้ปักกิ่ง โดยวอชิงตันกล่าวว่าเป็นการรับประกันสิ่งที่เรียกว่า ‘เสรีภาพในการเดินเรือ’ ในทะเลแห่งนี้ ที่มีมูลค่าการค้าหลายล้านล้านดอลลาร์ในแต่ละปี.