การรุกรานไต้หวันของจีนจะก่อผลลัพธ์หายนะสำหรับโลก จากคำเตือนของโจเซฟ วู รัฐมนตรีต่างประเทศ ระหว่างให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพีเมื่อวันพุธ (2 ส.ค.) อ้างถึงความสำคัญของเกาะแห่งนี้ในแง่ของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และเส้นทางการเดินเรือสินค้า อย่างไรก็ตาม เขาไม่คาดหวังว่าอเมริกาจะเข้าร่วมทำศึกสงคราม และยืนยันการปกป้องไต้หวันเป็นหน้าที่ของพวกเขาเอง
เสียงเตือนของ วู มีขึ้นในขณะที่ไต้หวัน เกาะปกครองตนเองตามระบอบประชาธิปไตยมุ่งหน้าสู่ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีหน้า ท่ามกลางแรงกดดันทั้งทางทหารและการเมืองที่หนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ จากจีน
ปักกิ่งกล่าวอ้างว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของดินแดน และประกาศซ้ำๆ ว่าจะยึดคืนวันใดวันหนึ่ง และผ่านการใช้กำลังถ้าจำเป็น ในเรื่องนี้ วู เตือนว่าการใช้กำลังใดๆ กับไต้หวันจะก่อผลลัพธ์สะท้อนไปทั่วโลก
"สิ่งที่เราจำเป็นต้องทำคืออธิบายกับประชาคมนานาชาติว่าถ้ามีความขัดแย้งใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับไต้หวัน มันจะก่อผลลัพธ์หายนะกับส่วนอื่นๆ ของโลก" วูกล่าว โดยชี้ถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะขาดแคลนอาหารและชื้อเพลิง เงินเฟ้อลุกลาม แบบเดียวกับที่เกิดจากปฏิบัติการรุกรานยูเครนของรัสเซีย
ผลกระทบทางพาณิชย์ของความขัดแย้งข้ามช่องแคบจะมหึมามาก มากกว่า 50% ของเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ทั่วโลกล่องผ่านช่องแคบที่กั้นกลางระหว่างไต้หวันกับจีน "เพราะฉะนั้นเสรีภาพการล่องเรือจึงเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญที่สุดของความมั่นคงและความรุ่งเรืองระหว่างประเทศ" วูกล่าว
ไต้หวันยังเป็นดินแดนที่แทบจะผูกขาดการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ไมโครชิปที่เป็นเลือดหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจสมัยใหม่ และให้พนักงานข้าวของเกือบทุกๆ อย่าง ไล่ตั้งแต่เครื่องชงกาแฟ ไปจนถึงอาวุธที่สลับซับซ้อนอย่างเช่นขีปนาวุธ และสาธารณูปโภคด้านการป้องกันตนเอง
"ลองคิดถึงความวุ่นวายด้านห่วงโซ่อุปทาน" รัฐมนตรีรายนี้กล่าว "เราหวังว่ารัฐบาลจีนจะไม่เลือกหนทางการใช้กำลังกับไต้หวัน เพราะว่าผลกระทบมันจะร้ายแรงเกินไปสำหรับโลกใบนี้"
วู เป็นสมาชิกพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ซึ่งถูกมองว่ามีความโปรสหรัฐฯมากกว่าพรรคฝ่ายค้านก๊กมินตั๋ง
ทั้งนี้ รัฐบาลพรรรค DPP นำโดยประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ซึ่งอยู่ในสมัยสุดท้ายของการดำรงตำแหน่งไม่เป็นที่ถูกใจเท่าไหร่สำหรับพวกผู้นำจีน หลังเธอยืนกรานไม่ยอมรับว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน
ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับจีน ดำดิ่งนับตั้งแต่ ไช่ ได้รับเลือกตั้งในปี 2016 โดยปักกิ่งปฏิเสธพูดคุยเจรจากับไทเป และโลกหันมาให้ความสนใจกับความตึงเครียดข้ามช่องแคบมากยิ่งขึ้นในขวบปีที่ผ่านมา ซึ่ง วู ชี้ว่าส่วนหนึ่งเป็นผลจากปฏิบัติการรุกรานยูเครนของรัสเซีย
"ประชาคมนานาชาติมองไปรอบๆ และตระหนักว่าไต้หวันอาจเป็นรายต่อไป พวกเขามองไปที่ประวัติยาวเป็นหางว่าวของจีนในการคุกคามไต้หวัน" เขากล่าว พร้อมชี้ว่าปี 2027 ซึ่งเป็นที่พูดถึงกันมากที่สุด อาจเป็นช่วงเวลาที่จีนตัดสินใจเปิดฉากรุกรานไต้หวัน
ก่อนหน้านี้บรรดาเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ แสดงความคิดเห็นเชื่อว่าจีนจะยังไม่มีแสนยานุภาพทางทหารเพียงพอที่จะเปิดปฏิบัติการรุกรานไต้หวัน ก่อนหน้าปี 2027
ไต้หวันพบเห็นเครื่องบินรบของจีนล่วงล้ำเขตป้องกันภัยทางอากาศและเรือลาดตระเวนของกองทัพเรือจีน ล่วงล้ำน่านน้ำของพวกเขาแทบทุกวัน นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม ครั้งที่นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ณ ขณะนั้นเดินทางเยือนไต้หวัน การเดินทางเยือนที่สร้างความเดือดดาลแก่ปักกิ่ง
สหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าให้การสนับสนุนด้านกำลังใจและความช่วยเหลือด้านการทหารแก่ไต้หวัน ในนั้นรวมถึงแพกเกจความช่วยเหลืออีก 345 ล้านดอลลาร์ ที่กระทรวงกลาโหมอเมริกา (เพนตากอน) แถลงเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ไต้หวันไม่คาดหวังว่าสหรัฐฯ จะสู้ศึกสงครามเพื่อพวกเขา
"เราเข้าใจดีกว่านี่คือที่ของเรา นี่คือประเทศของเรา นี่คืออธิปไตยของเรา และวิถีชีวิตประชาธิปไตยของเรา เพราะฉะนั้นการปกป้องไต้หวันจึงเป็นหน้าที่รับผิดชอบของเราเอง" วูกล่าว "เราจะไม่ยอมแลกมัน ไม่ว่ากับอะไรก็ตาม"
(ที่มา : เอเอฟพี)