xs
xsm
sm
md
lg

PDF กะเหรี่ยงเมืองปะลอ ภาคตะนาวศรี แปรสภาพเป็นทหารในสังกัด KNU

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ประกาศแปรสภาพ Palaw KPDF เป็นกองร้อยที่ 5 กองพันที่ 7 KNDO
MGR Online - กองกำลัง PDF ชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ในเมืองปะลอ จังหวัดมะริด ภาคตะนาวศรี ประกาศแปรสภาพเป็นกองร้อยที่ 5 สังกัดกองพันที่ 7 องค์กรป้องกันแห่งชาติกะเหรี่ยง ซึ่งเป็น 1 ใน 2 กองทัพอย่างเป็นทางการของ KNU

วานนี้ (2 ก.ค.) Palaw KPDF กองกำลังติดอาวุธฝ่ายต่อต้านของชาวกะเหรี่ยงที่เคลื่อนไหวต่อสู้กับกองทัพพม่าในพื้นที่เมืองปะลอ จังหวัดมะริด ภาคตะนาวศรี ได้ประกาศแปรสภาพเป็นทหารในสังกัดองค์กรป้องกันแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Defence Organisation : KNDO) อย่างเป็นทางการ โดยได้เปลี่ยนสถานะเป็นกองร้อยที่ 5 สังกัดกองพันที่ 7 KNDO แต่ยังคงรับผิดชอบเคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่เมืองปะลอเช่นเดิม

Palaw KPDF ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2565 หลังจากก่อนหน้านั้นไม่กี่เดือน รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) หรือรัฐบาลเงาของอดีตสมาชิกพรรค NLD ได้ประกาศจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธ (PDF) ขึ้นในทุกพื้นที่ทั่วพม่าเพื่อจับอาวุธเข้าสู่รบกับทหารพม่า โดยนับแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงเมื่อวานนี้ Palaw KPDF มีผลงานซุ่มโจมตีทหารพม่ารวม 44 ครั้ง สามารถสังหารทหารพม่าได้ 205 นาย ทำให้ทหารพม่าบาดเจ็บ 263 คน ขณะที่มีทหาร Palaw KPDF เสียชีวิตเพียง 2 นาย และบาดเจ็บ 11 คน

กำลังพล Palaw KPDF ซึ่งปัจจุบันเป็นทหาร KNDO
KNDO เป็น 1 ใน 2 กองทัพติดอาวุธอย่างเป็นทางการในสังกัดสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union : KNU) ส่วนอีกกองทัพหนึ่ง ได้แก่ กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Liberation Army : KNLA)

KNU เป็นองค์กรติดอาวุธชาติพันธุ์ที่ร่วมลงนามในสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) กับรัฐบาลพม่า สมัยประธานาธิบดีเตงเส่ง เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2558 แต่หลังจาก พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย นำกำลังเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลของพรรค NLD เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 KNU ไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหารครั้งนี้ จากนั้นกองทัพติดอาวุธในสังกัด KNU ทั้ง KNLA และ KNDO ก็เริ่มเปิดศึกกับกองทัพพม่าในหลายพื้นที่ของรัฐกะเหรี่ยง รัฐมอญ ภาคพะโค และภาคตะนาวศรี ซึ่งมีพื้นที่ส่วนใหญ่ติดกับชายแดนด้านตะวันตกของประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม แม้ต่อสู้กับกองทัพพม่าเหมือนกัน แต่แนวทางการเมืองของ KNU กับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ของอดีตสมาชิกพรรค NLD ไม่สอดคล้องกัน เป้าหมายของ KNU คือต้องการแยกพื้นที่ของชาวกะเหรี่ยงออกมาเป็นรัฐเอกราช ขณะที่ NUG ต้องการหวนคืนสู่อำนาจในการบริหารสหภาพพม่าทั้งหมด แกนนำ KNU ส่วนใหญ่ไม่ไว้วางใจ NUG โดยมองว่าในอนาคต หาก NUG ได้รับชัยชนะ กองกำลัง PDF ที่ NUG สนับสนุนอยู่จะย้อนกลับมารบกับกองทัพกะเหรี่ยง เพื่อต้องการควบคุมดินแดนรัฐกะเหรี่ยงอย่างเบ็ดเสร็จ


เมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 นายพลเนอดา เมียะ อดีตผู้บัญชาการ KNDO ซึ่งมีจิตใจฝักใฝ่ NUG ได้นำกำลังพลจำนวนหนึ่งแยกตัวออกจาก KNDO และตั้งกองกำลังติดอาวุธกลุ่มใหม่ที่ชื่อ “กองทัพกอทูเล” (Kawthoolei Army : KTLA) เคลื่อนไหวร่วมกับ PDF ทางตอนเหนือของภาคตะนาวศรี สู้รบกับกองทัพพม่า โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดทวาย

เนื่องจากพื้นที่เคลื่อนไหวของ KTLA กับ KNLA ซึ่งเป็นทหารชาติพันธุ์กะเหรี่ยงเหมือนกัน มีการทับซ้อนกันในหลายจุด เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ทหารกองพันที่ 10 กองพลที่ 4 KNLA ได้ปะทะกับทหารกองร้อยที่ 5 KTLA ในเขตทีคี พื้นที่ชายแดนจังหวัดทวาย ตรงข้ามอำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ของไทย ทำให้มีทหาร KTLA จำนวนหนึ่งเสียชีวิตด้วย.

ที่ตั้งเมืองปะลอ จังหวัดมะริด ภาคตะนาวศรี


กำลังโหลดความคิดเห็น