เอพี - รัฐบาลทหารพม่ากำลังเรียกร้องให้ประชาชนที่ต่อต้านการปกครองของตนส่งมอบอาวุธ โดยเสนอให้รางวัลเงินสดหากทำตาม พร้อมลดโทษให้หากคนเหล่านั้นทำผิดกฎหมาย
ประกาศอย่างเป็นทางการในหนังสือพิมพ์โกลบอล นิว ไลท์ ออฟ เมียนมาร์ ฉบับวันพุธ (10) ระบุเชิญชวนผู้ที่เกี่ยวข้องในองค์กรต่อต้านต่างๆ รวมทั้งกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) ให้กลับเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย แลยังกล่าวหาองค์กรต่อต้านทหารที่กองทัพระบุว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย ใช้ความหวาดกลัวและการปลูกฝังโน้มน้าวให้ผู้บริสุทธิ์เข้าร่วมองค์กรต่อต้าน
ประกาศของทางการยังระบุว่า ผู้ที่ยอมจำนนจะต้องถูกพิจารณาคดีหากก่ออาชญากรรม เช่น ฆาตกรรม ข่มขืน และทำร้ายผู้อื่น แต่รัฐจะลดโทษให้ขึ้นอยู่กับความผิด
นอกจากนี้ ประกาศยังระบุว่า ผู้ที่มอบอาวุธและกระสุนจะได้รับเงินมากถึง 7.5 ล้านจ๊าต (3,500 ดอลลาร์) ส่วนปืนที่ทำขึ้นเองได้ 500,000 จ๊าต (240 ดอลลาร์) ส่วนอาวุธ เช่น ปืนครกและเครื่องยิงจรวดจะได้เงินรางวัลจำนวนมากที่สุด นอกจากนี้ ทางการยังเสนอให้เงิน 5 ล้านจ๊าต (2,400 ดอลลาร์) สำหรับโดรนทิ้งระเบิด ที่เป็นยุทธวิธีที่กองกำลังต่อต้านชอบใช้
พม่าอยู่ในความโกลาหลวุ่นวายนับตั้งแต่กองทัพโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของอองซานซูจีในเดือน ก.พ.2564 การยึดอำนาจดังกล่าวทำให้เกิดการชุมนุมประท้วงทั่วประเทศ ซึ่งกองกำลังความมั่นคงเข้าปราบปรามด้วยกำลังรุนแรง จนนำไปสู่การต่อต้านด้วยอาวุธ และแม้ว่ากองทัพจะมีข้อได้เปรียบด้านอาวุธยุทโธปกรณ์แต่ยังไม่สามารถบดขยี้ฝ่ายตรงข้ามได้
การต่อต้านการปกครองของทหารนำโดยรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ที่จัดตั้งขึ้นโดยสมาชิกสภานิติบัญญัติที่ได้รับเลือกตั้ง แต่ถูกปฏิเสธที่นั่งโดยการรัฐประหารของกองทัพ พวกเขายืนยันว่ารัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเป็นฝ่ายบริหารที่ถูกต้องตามกฎหมายของประเทศ
กองกำลังพิทักษ์ประชาชนที่มีการจัดการอย่างหลวมๆ พร้อมด้วยกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ที่เป็นพันธมิตรของพวกเขา มักเปิดฉากโจมตีเจ้าหน้าที่ทหาร ฐานทัพ และค่ายทหารอยู่เป็นประจำ
“การเสนอสิ่งจูงใจของกองทัพเป็นความพยายามที่จะดึงเยาวชนที่มีส่วนร่วมในขบวนการต่อต้านให้มาอยู่ฝ่ายตน แสดงให้เห็นว่าพวกเขาไม่เข้าใจว่าเหตุใดเยาวชนถึงจับอาวุธและสละชีวิตของพวกเขาเพื่อการปฏิวัติ” ทินซา ชุนเล ยี นักเคลื่อนไหวสนับสนุนประชาธิปไตยพลัดถิ่นและผู้บริหารองค์กรสนับสนุนการแปรพักตร์ออกจากกองกำลังความมั่นคงของรัฐ กล่าว
“การชักจูงโน้มน้าวเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าการปฏิวัติจะสิ้นสุดลง พวกเขาควรรู้จากประสบการณ์กว่า 70 ปีว่าจนกว่าจะได้รับความยุติธรรม และทหารกลับเข้าค่ายของพวกเขา ประชาชนจะยังคงทำการปฏิวัติต่อไป” ทินซาร์ ชุนเล ยี กล่าว
นับตั้งแต่เดือน มิ.ย.2565 รัฐบาลทหารเรียกร้องให้ประชาชนที่ต่อสู้กับกองทัพวางอาวุธและกลับคืนสู่ชีวิตพลเรือน และแม้ว่าข้อเสนอจะรวมถึงการสนับสนุนทางการเงินบางส่วน แต่ก็ไม่ได้รวมถึงการผ่อนปรนโทษ และให้รางวัลสำหรับการส่งมอบอาวุธ
กระทรวงข้อมูลของรัฐบาลทหารระบุในวันที่ 3 พ.ค. ว่ามีสมาชิกของกองกำลังพิทักษ์ประชาชน 502 คน ได้ติดต่อเจ้าหน้าที่และกลับเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย
ด้านรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติระบุในคำแถลงเมื่อสัปดาห์ก่อนว่ามีทหารและตำรวจมากกว่า 13,000 นาย แปรพักตร์เข้าร่วมฝ่ายต่อต้านนับตั้งแต่กองทัพเข้ายึดอำนาจ.