xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำอาเซียนร้องยุติความรุนแรงทุกรูปแบบในพม่า ผลักดันการเจรจาครอบคลุมทุกฝ่าย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - ผู้นำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่พบหารือกันในอินโดนีเซียได้เรียกร้องการยุติความรุนแรงโดยทันทีในพม่าที่อยู่ภายใต้การปกครองของทหาร ในความพยายามที่จะสร้างพื้นที่สำหรับการเจรจาและจัดส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ขณะที่การสู้รบทวีความรุนแรงขึ้น

การประชุมสุดยอดสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) คาดว่าจะมีการหารือกันเกี่ยวกับวิกฤตนองเลือดของพม่า ขณะที่ความอดทนเริ่มลดน้อยลงเนื่องจากรัฐบาลทหารพม่าไม่แสดงถึงความตั้งใจที่ดำเนินการตามแผนสันติภาพที่ได้ตกลงไว้กับกลุ่มภูมิภาคหลังยึดอำนาจในการรัฐประหารปี 2564

“เรารู้สึกกังวลเป็นอย่างมากต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในพม่า และเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงทุกรูปแบบและการใช้กำลังโดยทันที” ผู้นำอาเซียนระบุในคำแถลงร่วม

กลุ่มผู้นำยังเรียกร้องสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างปลอดภัยและทันท่วงที และการเจรจาระดับชาติที่ครอบคลุม

การประชุมในเมืองประมงอันเงียบสงบของอินโดนีเซียมีขึ้นในขณะที่กองทัพของพม่าเพิ่มการโจมตีและการโจมตีทางอากาศต่อกองกำลังของฝ่ายต่อต้านและกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ ในความพยายามที่จะรวมอำนาจก่อนการเลือกตั้งที่วางแผนไว้

การประชุมครั้งนี้ยังเกิดขึ้นไม่กี่วันหลังผู้โจมตีไม่ทราบฝ่ายยิงใส่ขบวนรถของนักการทูตระดับภูมิภาคในพม่าที่กำลังจัดส่งเสบียงให้ผู้พลัดถิ่นจากความขัดแย้ง

ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ของอินโดนีเซีย ที่ดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในปัจจุบัน ก่อนหน้านี้ได้เรียกร้องให้มีความเห็นพ้องในทิศทางเดียวกันต่อความท้าทายที่ภูมิภาคกำลังเผชิญอยู่

“อาเซียนจะนิ่งเฉย หรืออาเซียนจะสามารถเป็นผู้ขับเคลื่อนสันติภาพหรือการเติบโต” ผู้นำอินโดนีเซีย กล่าว

อาเซียนที่มีนโยบายไม่แทรกแซงกิจการของประเทศสมาชิก เริ่มแสดงท่าทีแข็งกร้าวมากขึ้นต่อรัฐบาลทหารพม่าเกี่ยวกับความล้มเหลวของรัฐบาลทหารที่จะดำเนินการตามฉันทมติ 5 ข้อ ที่นายพลระดับสูงของประเทศได้ตกลงไว้กับอาเซียนเมื่อไม่กี่เดือนหลังการรัฐประหารที่นำมาซึ่งความโกลาหลวุ่นวาย

“มาเลเซียรู้สึกผิดหวังที่ยังคงขาดความคืบหน้าอย่างแท้จริงและมีความหมายในการดำเนินการตามฉันทมติ 5 ข้อ” นายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม ของมาเลเซีย กล่าวนอกรอบการประชุมสุดยอด

ปัจจุบัน ผู้นำรัฐบาลทหารพม่าถูกห้ามเข้าร่วมการประชุมระดับสูงจนกว่าพวกเขาจะดำเนินการตามแผนสันติภาพที่รวมถึงการยุติการสู้รบ

เร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศของอินโดนีเซีย กล่าวเมื่อสัปดาห์ก่อนว่าอินโดนีเซียมีส่วนร่วมอย่างเงียบๆ กับกองทัพพม่า รัฐบาลเงา และกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ เพื่อพยายามเริ่มต้นการเจรจาสันติภาพ

“อาเซียนกำลังทำอย่างดีที่สุดเท่าที่ทำได้เพราะเมื่อคุณอยู่ในสถานการณ์ดังกล่าว มันไม่ได้ง่ายอย่างนั้น” รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของฟิลิปปินส์ กล่าว

แต่บางคนเรียกร้องให้อาเซียนใช้ท่าทีแข็งกร้าวมากยิ่งขึ้น เช่น อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของอินโดนีเซีย มาร์ตี นาตาเลกาวา ‘กล่าวว่าการปล่อยให้ที่นั่งว่างในการประชุมสุดยอดอาเซียนเป็นคอมฟอร์ตโซนของพวกเขา พวกเขาไม่ต้องรับผิดชอบ’

“การยกเว้นรัฐบาลทหารเป็นเพียงส่วนหนึ่งของขั้นตอนต่างๆ ที่ควรต้องดำเนินการ” นาตาเลกาวา กล่าว

การประชุมสุดยอดผู้นำครั้งนี้ คาดว่าจะรวมถึงการหารือเกี่ยวกับหลักปฏิบัติสำหรับทะเลจีนใต้ และความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับไต้หวัน ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ของฟิลิปปินส์ ระบุวานนี้

ในวันพุธ (10) ผู้นำอาเซียนได้ออกคำแถลงร่วมหลายชุด ที่รวมถึงความมุ่งมั่นร่วมกันในการต่อต้านการค้ามนุษย์ การปกป้องแรงงานต่างชาติ และการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าทั่วภูมิภาค.


กำลังโหลดความคิดเห็น