เอเอฟพี - วิกฤตที่ลุกลามในพม่าจะยังปกคลุมการเจรจาระหว่างผู้นำชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอินโดนีเซียสัปดาห์นี้ ขณะที่พวกเขาจะเรียกร้องการยุติความรุนแรงที่ทวีความรุนแรงขึ้นอีกครั้ง
พม่าตกอยู่ความโกลาหลวุ่นวายนับตั้งแต่กองทัพเข้ารัฐประหารที่ขับไล่รัฐบาลของอองซานซูจีในเดือน ก.พ.2564 โดยการปราบปรามนองเลือดของรัฐบาลทหารต่อผู้เห็นต่างนำไปสู่ความไม่สงบในสังคม และหายนะทางเศรษฐกิจ
สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่ถูกนักวิจารณ์ประณามมายาวนานว่าเป็นเพียงเวทีพูดคุยที่ไม่มีผลบังคับใช้ พยายามเริ่มแผน 5 ข้อที่ได้ตกลงไว้กับพม่าเมื่อ 2 ปีก่อน หลังความพยายามไกล่เกลี่ยเพื่อยุติความรุนแรงนั้นล้มเหลว
แต่ความพยายามของกลุ่มได้หยุดชะงักลงเมื่อรัฐบาลทหารเมินเฉยต่อการวิพากษ์วิจารณ์ของนานาชาติ และปฏิเสธที่จะมีส่วนร่วมกับฝ่ายตรงข้าม ที่รวมถึงสมาชิกสภานิติบัญญัติที่ถูกขับไล่ กองกำลังพิทักษ์ประชาชนที่ต่อต้านการรัฐประหาร และกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์
การโจมตีทางอากาศกับหมู่บ้านในฐานที่มั่นของกลุ่มกบฏเมื่อเดือนก่อนที่มีรายงานว่าทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายสิบคน ก่อให้เกิดเสียงประณามจากทั่วโลกและทำให้รัฐบาลทหารโดดเดี่ยวยิ่งขึ้น
นักการทูตกล่าวกับเอเอฟพีว่า วิกฤตพม่าจะเป็นประเด็นสำคัญระหว่างการประชุมสุดยอดในวันที่ 9-11 พ.ค. บนเกาะฟลอเรส ของอินโดนีเซีย
กลุ่มภูมิภาค 10 ประเทศจะประณามอย่างรุนแรงอีกครั้งต่อการโจมตีทางอากาศ และเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงโดยทันทีในคำแถลงปิดท้ายการประชุมสุดยอดที่จะออกโดยอินโดนีเซียที่เป็นประธานกลุ่มในปีนี้ ตามร่างที่เอเอฟพีได้เห็น
“นี่จะเป็นวิธีเดียวที่จะสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเจรจาระดับชาติอย่างครอบคลุมเพื่อหาทางออกที่สันติและยั่งยืนในพม่า” ร่างคำแถลงระบุ
พม่ายังคงเป็นสมาชิกอาเซียน แต่ถูกห้ามเข้าร่วมการประชุมสุดยอดระดับสูงเนื่องจากรัฐบาลทหารล้มเหลวที่จะดำเนินการตามแผนสันติภาพ.