เอพี - รัฐบาลทหารพม่ากล่าววันนี้ (3) ว่าได้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองมากกว่า 2,100 คน โดยอ้างว่าเพื่อมนุษยธรรม แต่ยังมีอีกหลายพันคนที่ยังคงถูกคุมขังในข้อหาทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับการประท้วงที่ไม่รุนแรง หรือวิพากษ์วิจารณ์การปกครองของทหาร ที่เริ่มขึ้นเมื่อกองทัพยึดอำนาจในเดือน ก.พ.2564 จากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของอองซานซูจี
สถานีโทรทัศน์ MRTV ของรัฐรายงานว่า พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง หล่าย ได้อภัยโทษนักโทษ 2,153 คน เนื่องในวันสำคัญทางพุทธศาสนาที่สำคัญที่สุดของปี ที่พม่าเรียกว่า Full Moon Day of Kasone
การปล่อยตัวเริ่มขึ้นในวันพุธ (3) แต่อาจใช้เวลา 2-3 วัน จึงจะเสร็จสิ้นกระบวนการ แม้ไม่มีรายงานว่ามีผู้ใดบ้างที่ได้รับการปล่อยตัว แต่การอภัยโทษครั้งนี้ไม่รวมอองซานซูจี ที่ต้องโทษจำคุก 33 ปี จากข้อหาหลายสิบกระทง ที่ผู้สนับสนุนของเธอกล่าวว่าถูกทหารกุขึ้น
ตามการประกาศอย่างเป็นทางการในสื่อของรัฐ นักโทษทั้งหมดที่ได้รับการอภัยโทษในวันพุธ ถูกตัดสินว่ามีความผิดตามมาตราของประมวลกฎหมายอาญาของพม่า ที่มีความผิดจากการเผยแพร่ความเห็นที่ก่อให้เกิดความไม่สงบหรือความหวาดกลัวในสังคม หรือเผยแพร่ข่าวปลอม ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 3 ปี
เงื่อนไขของการอภัยโทษเตือนว่าหากผู้ถูกคุมขังที่ถูกปล่อยตัวละเมิดกฎหมายอีกครั้ง พวกเขาจะต้องรับโทษตามโทษเดิมที่เหลืออยู่ นอกเหนือไปจากโทษที่พวกเขาได้รับจากความผิดครั้งใหม่
การปล่อยตัวนักโทษจำนวนมากเป็นเรื่องปกติในวันหยุดสำคัญต่างๆ ในพม่า โดยการปล่อยตัวนักโทษการเมืองจำนวนมากครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในเดือน ก.ค.2564 ที่มีนักโทษได้รับการปล่อยตัวทั้งหมด 2,296 คน
ในเดือน พ.ย.2565 นักโทษการเมืองที่มีชื่อเสียงหลายคน รวมถึงนักวิชาการชาวออสเตรเลีย ผู้สร้างภาพยนตร์ชาวญี่ปุ่น อดีตนักการทูตอังกฤษ และชาวอเมริกัน ได้รับการปล่อยตัวที่เป็นส่วนหนึ่งของการนิรโทษกรรม รวมทั้งยังปล่อยตัวพลเมืองท้องถิ่นจำนวนมากที่ถูกคุมขังจากการชุมนุมประท้วงการยึดอำนาจของกองทัพ
สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองกล่าวเมื่อวันอังคาร (2) ว่ามีประชาชน 17,897 คน ที่ถูกควบคุมตัวนับตั้งแต่การยึดอำนาจในปี 2564 ยังคงถูกคุมขัง
การปล่อยนักโทษดูเหมือนเป็นความพยายามของรัฐบาลทหารสายแข็งกร้าวที่จะทำให้ภาพลักษณ์ของตนดูอ่อนลง ด้วยเป็นผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนรายใหญ่
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา บัน คี-มุน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติได้เรียกร้องให้กองทัพพม่าริเริ่มหาทางออกจากวิกฤตทางการเมืองรุนแรงของประเทศ รวมทั้งปล่อยตัวนักโทษการเมือง หลังจากการพบหารือกับ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย
คำแถลงหลังการพบหารือ ระบุว่า บัน คี-มุน สนับสนุนการเรียกร้องของประชาคมระหว่างประเทศให้พม่าปล่อยตัวนักโทษที่ถูกควบคุมตัวโดยพลการทันที เรียกร้องให้มีการเจรจาที่สร้างสรรค์ และการยับยั้งชั่งใจอย่างสูงสุดจากทุกฝ่าย
การอภัยโทษยังเกิดขึ้น 1 วันหลังจาก พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย พบหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศของจีนที่เดินทางเยือนพม่า ที่ให้การสนับสนุนรัฐบาลของเขานับตั้งแต่เข้ายึดอำนาจ
MRTV รายงานในวันอังคาร (2) ว่า ฉิน กัง ได้หารือกับ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย และเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนอื่นๆ ในกรุงเนปีดอ และได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทวิภาคี สถานการณ์ทางการเมืองของพม่า และเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาและความมั่นคงของประเทศ
จีนมีผลประโยชน์ทางภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจในเชิงยุทธศาสตร์ในพม่า ที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านทางตอนใต้ และเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่รักษาความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลทหาร ที่ถูกรัฐบาลชาติตะวันตกคว่ำบาตร จากการยึดอำนาจและการปราบปรามอย่างรุนแรงต่อฝ่ายตรงข้าม
พม่าอยู่ในความโกลาหลวุ่นวายนับตั้งแต่กองทัพยึดอำนาจ การเข้ายึดครองก่อให้เกิดการประท้วงอย่างสันติที่กองกำลังความมั่นคงเข้าปราบปรามด้วยความรุนแรงนองเลือด และความรุนแรงได้ทวีความรุนแรงขึ้นพร้อมกับการต่อต้านด้วยอาวุธทั่วประเทศ และความพยายามทางทหารครั้งใหญ่ที่จะปราบปราม
นับจนถึงวันอังคาร (2) มีพลเรือน 3,452 คน ถูกกองกำลังความมั่นคงสังหารนับตั้งแต่กองทัพยึดอำนาจ ตามการระบุของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง.