MGR Online - ชาวปะโอนับพันชุมนุมในตองจี ขับไล่ทหารกะเหรี่ยงแดง และกองกำลัง PDF ทุกกลุ่มให้ออกไปจากพื้นที่ เหตุเข้ามารบกับทหารพม่าในเขตปกครองตนเองปะโอ จนเป็นเหตุให้เกิดสังหารหมู่ชาวบ้าน-พระสงฆ์ 31 ศพ ที่เมืองป๋างลอง
ช่วงเช้าวันนี้ (15 มี.ค.) ชาวปะโอนับพันคนได้มาชุมนุมกันที่สนามกีฬาในเขตกันจี เมืองตองจี ภาคใต้ของรัฐชาน เพื่อเรียกร้องให้ทหาร KNDF (Karenni Nationalities Defence Force) รวมถึงกองกำลังติดอาวุธฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า (PDF) ทุกกลุ่ม ออกไปจากพื้นที่เขตปกครองตนเองชาติพันธุ์ปะโอโดยทันที
การชุมนุมเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ผู้มาชุมนุมต่างชูป้ายแสดงข้อความต่อต้าน KNDF และกองกำลัง PDF ทุกกลุ่มที่ได้เข้ามาเคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ของชาวปะโอ จากนั้นมีการร้องตะโกนข้อความว่า “ชาวปะโอไม่ต้องการ KNDF-PDF” และ “ให้ KNDF-PDF ออกไปจากพื้นที่”
การชุมนุมครั้งนี้เกิดขึ้นหลังเกิดเหตุสังหารหมู่ 31 ศพ ภายในวัดที่บ้านน้ำเน็ง ตำบลโหลงแปน อำเภอป๋างลอง เมื่อวันเสาร์ที่ 11 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยในจำนวนผู้เสียชีวิตทั้ง 31 ศพ เป็นชาวบ้านน้ำเน็ง 28 ราย และพระสงฆ์ในวัดอีก 3 รูป ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าการสังหารหมู่ดังกล่าวเป็นฝีมือของฝ่ายใด แต่ผู้ที่นำภาพศพของผู้เสียชีวิตทั้งหมดมาเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์เป็นกลุ่มแรก คือ KNDF
อำเภอป๋างลอง อยู่ทิศใต้ของเมืองตองจี ในพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างรัฐชานกับรัฐกะยา ส่วนบ้านน้ำเน็ง จุดเกิดเหตุซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 300 หลังคาเรือน ตั้งอยู่ตามแนวทางหลวงหมายเลข 54 ที่เชื่อมจากเมืองลอยก่อ รัฐกะยา ผ่านเมืองบ๊าย (โม-บยี) เมืองฝายขุน (แผ่โข่ง) ป๋างลอง มีปลายทางที่เมืองตองจี
รัฐธรรมนูญพม่าฉบับล่าสุดที่ประกาศใช้เมื่อปี 2551 กำหนดให้ป๋างลองเป็น 1 ใน 3 อำเภออย่างเป็นทางการของเขตปกครองตนเองชนชาติปะโอ อีก 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอโหโปงที่อยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองตองจี และอำเภอสี่แสง ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของป๋างลอง
ป๋างลองแบ่งการปกครองเป็น 10 เขต 35 ตำบล ข้อมูลล่าสุดเมื่อในปี 2563 ประชากรป๋างลองมีประมาณ 170,000 คน ส่วนใหญ่ 120,000 คน เป็นชาวปะโอ รองลงมาเป็นชาวไต 30,000 คน ที่เหลือเป็นชาวพม่า กะเหรี่ยงแดง และกลุ่มชาติพันธุ์ย่อยอื่นๆ
KNDF เป็นกองกำลังติดอาวุธฝ่ายต่อต้านของชาวกะเหรี่ยงแดง ซึ่งได้ทำสงครามสู้รบอย่างดุเดือดกับกองทัพพม่าในพื้นที่รัฐกะยา นับแต่เกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 และกำลังขยายแนวรบขึ้นมาในพื้นที่รัฐชาน
เมื่อทหาร KNDF จำนวนหนึ่งเข้าไปเคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่บ้านน้ำเน็ง ทำให้บ้านน้ำเน็งกลายเป็นสมรภูมิรบรุนแรง โดยทั้งทหารพม่า และ KNDF ต่างก็ใช้อาวุธหนักเข้าโจมตีซึ่งกันและกัน
เหยื่อผู้เสียชีวิตจากเหตุสังหารหมู่เมื่อวันที่ 11 มีนาคม เป็นชาวบ้านน้ำเน็งที่พยายามหนีภัยจากการสู้รบเข้าไปอาศัยอยู่ในวัด.