xs
xsm
sm
md
lg

NLD ปลุกม็อบต้าน ปตท.อีกแห่งในสะกาย อ้างต้องหยุดจ่ายเงินให้มินอ่องหล่าย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


การชุมนุมประท้วง ปตท. ที่เมืองแลตปะด่อง อำเภอซาลินจี จังหวัดยินหม่าบิ่น ภาคสะกาย เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2566
MGR Online - NLD ปลุกม็อบต้าน ปตท.อีกแห่งในแลตปะด่อง เมืองที่ตั้งเหมืองและโรงถลุงทองแดงใหญ่ที่สุดของจีนในภาคสะกาย พาชาวบ้านเดินขบวนเรียกร้อง ปตท.หยุดจ่าย “เงินเปื้อนเลือด” ให้กองทัพพม่า อ้างนำไปใช้เข่นฆ่าประชาชน

วันเสาร์ที่ 11 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ตัวแทนพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) เป็นแกนนำชาวบ้านกลุ่มหนึ่งในเมืองแลตปะด่อง อำเภอซาลินจี จังหวัดยินหม่าบิ่น ภาคสะกาย ให้ออกมาเดินขบวนต่อต้านบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กิจการพลังงานยักษ์ใหญ่จากประเทศไทย โดยหัวข้อที่นำมาประท้วง คือเรียกร้องให้ ปตท.หยุดจ่ายเงินเปื้อนเลือดให้แก่เผด็จการทหารพม่า


ตามภาพข่าวที่เสนอโดยสำนักข่าว Zalen Media ชาวบ้านที่มาร่วมประท้วงมีประมาณ 40 คน เกือบทั้งหมดเป็นผู้หญิงและเด็ก ส่วนแกนนำเป็นชายหนุ่มถือธงแดงข้างในเป็นรูปนกยูงสีทอง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพรรค NLD และมีป้ายผ้าสีขาวพิมพ์ข้อความภาษาอังกฤษสีแดง เขียนว่า PTT...Stop Paying Blood Money to Junta

การประท้วงเริ่มจากแกนนำได้นัดชาวบ้านออกมาร่วมชุมนุมกันบริเวณลานข้างวัดแห่งหนึ่ง มีการปราศรัยโจมตีกิจการของ ปตท.ในพม่า จากนั้นทั้งหมดได้เดินเป็นขบวน พร้อมตะโกนข้อความประท้วงไปตามจุดต่างๆ ก่อนจะสลายตัว

รูปแบบความเคลื่อนไหวในเมืองแลตปะด่อง เป็นลักษณะเดียวกับที่สมาชิกพรรค NLD กลุ่มที่ใช้ชื่อว่า “คณะกรรมการเคลื่อนไหวประท้วงเพื่อประชาธิปไตยในทวาย” (Democracy Movement Strike Committee-Dawei : DDMSC) ได้นำชาวบ้านในเมืองลองโลง จังหวัดทวาย ภาคตะนาวศรี ให้ออกมาเดินขบวนประท้วง บริษัท ปตท. และบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) เมื่อช่วงวันที่ 21-25 กุมภาพันธ์ 2566

โดยครั้งนั้นแกนนำประท้วงได้แจกและติดใบปลิวไว้ตามที่ต่างๆ เนื้อหาในใบปลิวระบุว่า ทั้ง ปตท. และ ปตท.สผ. เป็นแหล่งเงินทุนที่สนับสนุนกองทัพพม่า ซึ่งได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพรรค NLD ของอองซาน ซูจี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 โดย ปตท.สผ. ถือหุ้นอยู่ 25.5% ในแหล่งแก๊สยาดานา 19.3% ในแหล่งเยตากุน และ 80% ในแหล่งซอติกา เงินค่าสัมปทานที่ ปตท.สผ. จ่ายให้รัฐบาลทหารทำให้กองทัพพม่ามีเงินไปใช้ซื้ออาวุธ เครื่องบิน และเฮลิคอปเตอร์ที่นำมาใช้โจมตี เข่นฆ่ากลุ่มผู้ต่อต้าน


เมืองแลตปะด่อง เป็นที่ตั้งของเหมืองและโรงงานถลุงแร่ทองแดงที่ใหญ่ที่สุดของพม่า เป็นกิจการร่วมทุนระหว่างบริษัทวานเป่า (Wanbao Mining Copper Ltd.) กับ Union of Myanmar Economic Holdings Ltd. (UMEHL) มูลค่าการลงทุนประมาณ 997 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เริ่มเปิดดำเนินการเมื่อปี 2554

บริษัทวานเป่า เป็นบริษัทลูกของ China North Industries Group Corp หรือ Norinco จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ส่วน UMEHL เป็นบริษัทของกองทัพพม่า

นับแต่เริ่มเปิดดำเนินการเหมืองและโรงงานถลุงแร่ทองแดงที่แลตปะด่อง เป็นกิจการที่ถูกต่อต้านและมีชาวบ้านออกมาประท้วงหลายครั้ง เพราะเป็นโครงการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และรุกล้ำพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน แต่รัฐบาลพม่าในอดีต มักใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามทุกครั้งเมื่อมีการประท้วงเกิดขึ้น


หลัง พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ทำรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เหมืองและโรงงานถลุงทองแดงที่แลตปะด่องได้รับผลกระทบ เพราะกองกำลังติดอาวุธฝ่ายต่อต้าน (PDF) ได้ก่อวินาศกรรมเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงที่ส่งไฟฟ้าป้อนให้โรงงาน ทำให้ต้องหยุดดำเนินกิจการไปหลายครั้ง

เดือนเมษายน 2565 กองกำลัง PDF 16 กลุ่ม ได้ออกแถลงการณ์ขู่ว่าจะโจมตีเหมืองและโรงถลุงแร่ทองแดงแห่งนี้ เพราะเป็นแหล่งรายได้ของนายทหารระดับสูงในกองทัพพม่า ทำให้กองทัพพม่าต้องเพิ่มกำลังทหารและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจำนวนมากเข้ามาในพื้นที่เพื่อป้องกันเหมืองและโรงงาน.










กำลังโหลดความคิดเห็น