xs
xsm
sm
md
lg

แตกกันแล้ว! 2 ทัพกะเหรี่ยงรบกันเอง KNLA 4 ปะทะทหาร “เนอดา เมียะ” ที่ทวาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ทางหลวง AH123 ที่ถูก KTLA ร่วมกับกองกำลัง PDF สั่งปิด เมื่อเดือนมกราคม 2566
MGR Online - กองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์กะเหรี่ยง 2 กลุ่มปะทะกันเองอย่างหนัก ในพื้นที่ชายแดนทวาย ตรงข้ามจังหวัดกาญจนบุรี กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยงพยายามผลักดันทหารกองทัพกอทูเล ของนายพลเนอดา เมียะ ให้ออกไปจากพื้นที่ เหตุฝ่ายหลังเข้ามาเคลื่อนไหวอ้างต่อสู้กับทหารพม่า แต่กลับสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ทหารจากกองพันที่ 10 กองพลที่ 4 กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen Nation Liberation Army : KNLA) ได้นำกำลังบุกเข้าโจมตีค่ายทหารกองร้อยที่ 5 กองทัพกอทูเล (Kawthoolei Army : KTLA) ซึ่งตั้งอยู่ภายในเขตทีคี พื้นที่ชายแดนจังหวัดทวาย ภาคตะนาวศรี ตรงข้ามอำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรีของไทย

การสู้รบเริ่มขึ้นในช่วง 10.00 น. ทั้ง 2 ฝ่ายต่างสาดกระสุนโต้ตอบกันประมาณครึ่งชั่วโมง เสียงปืนจึงสงบ อย่างไรก็ตาม ในวันรุ่งขึ้น (17 ก.พ.) เวลาประมาณเที่ยง ทหาร KNLA ได้ใช้อาวุธหนักโจมตีค่ายทหาร KTLA จากนั้นได้เกิดการยิงปะทะกันอย่างรุนแรงต่อเนื่อง เป็นเวลานานกว่า 3 ชั่วโมง

ที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรม Mae Tha Mee Khee ของ KNLA 4 ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากชายแดนไทยที่ด่านทีคี-บ้านพุน้ำร้อนเข้าไปไม่มากนัก
สำนักข่าว Dawei Watch ซึ่งรายงานข่าวการปะทะกันครั้งนี้ ไม่สามารถยืนยันตัวเลขผู้เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บได้ เนื่องจากตัวแทนจากทั้ง 2 กองทัพที่ให้สัมภาษณ์ต่างบอกว่าฝ่ายของตนไม่ได้รับความเสียหาย แต่ทหารฝ่ายตรงข้ามมีทั้งบาดเจ็บ ล้มตายเป็นจำนวนมาก

ทั้งกองทัพ KNLA และ KTLA ต่างเป็นกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์กะเหรี่ยง โดย KNLA เป็นกองทัพอย่างเป็นทางการภายใต้การกำกับของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) แบ่งกำลังออกเป็น 7 กองพล ซึ่งกองพลที่ 4 (KNLA 4) รับผิดชอบพื้นที่ในภาคตะนาวศรีทั้งหมด

ส่วน KTLA เป็นกองกำลังติดอาวุธกลุ่มใหม่ที่เพิ่งสถาปนาขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 โดยนายพลเนอดา เมียะ อดีตผู้บัญชาการ องค์กรป้องกันแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen Nation Defence Organization : KNDO) และเป็นลูกชายของนายพลโบเมียะ อดีตประธาน KNU

นายพลเนอดา เมียะ ได้รวบรวมสมัครพรรคพวกซึ่งเป็นอดีตทหาร KNLA และ KNDO ออกมาตั้ง KTLA หลังเขาถูกบีบให้ออกจากการเป็นสมาชิก KNU จากกรณีทหาร KNDO ภายใต้การบัญชาการของเขาได้สังหารหมู่คนงานชาวพม่าอย่างโหดเหี้ยม 25 ศพ ที่ตำบลวาเลย์ จังหวัดเมียวดี เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2564 โดยอ้างว่าเป็นทหารพม่าปลอมตัวมา ซึ่งผลการสอบสวนของ KNU สรุปว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎระเบียบของ KNU

นายพลเนอดา เมียะ เป็นนายทหารที่จิตใจเอนเอียงไปเข้ากับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) หรือรัฐบาลเงาที่ตั้งขึ้นโดยสมาชิกพรรค NLD เพื่อต่อต้านรัฐบาลทหารของสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) โดยกำลังทหาร KTLA ที่เขาตั้งขึ้นได้ร่วมเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิดกับกองกำลังติดอาวุธ (PDF) ที่จัดตั้งขึ้นโดย NUG ต่อสู้กับกองทัพพม่าในหลายพื้นที่ทางภาคใต้ของรัฐกะเหรี่ยง และภาคเหนือของภาคตะนาวศรี

แม้ว่าทั้ง KNU และ NUG ต่างต่อต้าน SAC และกำลังสู้รบอยู่กับกองทัพพม่าเหมือนกัน แต่แกนนำ KNU ส่วนใหญ่ไม่ไว้วางใจ NUG โดยมองว่าในอนาคต หาก NUG ได้รับชัยชนะ กองกำลัง PDF ที่นายพลเนอดา เมียะ ให้การสนับสนุนอยู่นั้นจะย้อนกลับมาสู้รบกับกองทัพกะเหรี่ยง เพื่อต้องการควบคุมดินแดนรัฐกะเหรี่ยงทั้งหมด

Dawei Watch รายงานข่าวการสู้รบระหว่าง KNLA 4 กับ KTLA เมื่อวานนี้ (17 ก.พ.) โดยใช้เครื่องหมายอาร์มบนเครื่องแบบของแต่ละฝ่ายเป็นสัญลักษณ์
สำหรับความตึงเครียดครั้งล่าสุดระหว่างทหารกะเหรี่ยงด้วยกันเอง 2 กลุ่ม คือ KTLA และ KNLA 4 ที่เกิดขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดทวาย ซึ่งเป็นพื้นที่ชายแดนติดกับประเทศไทย ได้เริ่มคุกรุ่นมาตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม 2566 เมื่อหน่วย PDF ที่ใช้ชื่อว่า Nway Oo Guerrilla Force (LPDF) สนธิกำลังกับ KTLA ประกาศปิดทางหลวงเอเชียหมายเลข 123 (AH123) ช่วงที่เชื่อมจากด่านชายแดนทีคี ไปเมืองทวาย ระยะทางประมาณ 156 กิโลเมตร ห้ามผู้คน และรถทุกชนิดสัญจรผ่านอย่างเด็ดขาด ตามข่าวที่ MGR Online ได้นำเสนอไปแล้วเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2566 (https://mgronline.com/indochina/detail/9660000007863)

LPDF และ KTLA อ้างเหตุผลว่า เนื่องจากตลอดเส้นทางหลวง AH123 กำลังมีการสู้รบกันอย่างหนักกับกองทัพพม่า ดังนั้น จึงต้องปิดถนนเพื่อความปลอดภัยของประชาชน

ด่านชายแดนทีคี อยู่ตรงข้ามจุดผ่านแดนถาวรพุน้ำร้อน ตำบลบ้านเก่า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เป็นพื้นที่รับผิดชอบของ KNLA 4 ทางหลวง AH123 “ทีคี-ทวาย” ช่วงที่ถูก LPDF และ KTLA สั่งปิดมีบทบาทสำคัญมากสำหรับโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกทวาย ที่กำลังได้รับการรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ เพราะนอกจากเป็นเส้นทางหลักเพื่อขนส่งวัตถุดิบและวัสดุก่อสร้างให้โครงการทวายแล้ว ยังเป็นเส้นทางเชื่อมท่าเรือน้ำลึกทวายเข้ากับโครงข่ายคมนาคมของไทย ที่มีปลายทางอยู่ที่ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี

บริเวณชายแดนทีคี ช่วงเลยจากด่าน “ทีคี-พุน้ำร้อน” เข้าไปตามทางหลวง AH123 ไม่ไกลนัก เป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรม Mae Tha Mee Khee ซึ่งเป็นโครงการของ KNU

นิคมอุตสาหกรรม Mae Tha Mee Khee พื้นที่รวม 6,676 เอเคอร์ (16,886 ไร่) แบ่งเป็นเขตอุตสาหกรรม 3,380 เอเคอร์ (8,549 ไร่) เขตเมืองอุตสาหกรรม 3,100 เอเคอร์ (7,841 ไร่) และพื้นที่คลังสินค้าทัณฑ์บนอีก 196 เอเคอร์ (496 ไร่)

KNU เคยเซ็น MOU กับรัฐบาลภาคตะนาวศรีมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อเดือนธันวาคม 2559 แต่ถูกภาคประชาสังคมในพม่าตั้งคำถามถึงความโปร่งใสในการโยกย้ายชุมชน ทำให้ต้องชะลอโครงการไป กระทั่งวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 รัฐบาลภาคตะนาวศรีได้กลับมาเซ็น MOU กับบริษัท Mae Tha Mee Khee เพื่อฟื้นนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ขึ้นมาอีกครั้ง

ชุมชนออนไลน์ของชาวกะเหรี่ยง และเพจข่าวของรัฐตะนาวศรี เริ่มมีรายงานความตึงเครียดที่เกิดขึ้นระหว่างกองทัพกะเหรี่ยงด้วยกันเอง 2 กองทัพ มาตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566
บริษัท Mae Tha Mee Khee เป็นการร่วมทุนระหว่าง Noble Prince บริษัทเพื่อการลงทุนของ KNU ที่รับผิดชอบโดย KNLA 4 กับ Sun and Rainbow บริษัทเอกชนในภาคตะนาวศรี ตามข่าวที่เผยแพร่ในวันเซ็น MOU ระบุว่านิคมอุตสาหกรรม Mae Tha Mee Khee จะได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากบริษัท Power Construction Corporation of China หรือ Power China บริษัทของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน

อย่างไรก็ตาม หลังการรัฐประหาร ข่าวความคืบหน้าของโครงการนิคมอุตสาหกรรม Mae Tha Mee Khee ก็เงียบไป

การเข้ามาปฏิบัติการของ KTLA และกองกำลัง LPDF ในพื้นที่รับผิดชอบของ KNLA 4 ได้สร้างความสับสนให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ โดย KTLA ร่วมกับ LPDF ได้มีการวางระเบิดหลายจุดบนถนนในเขตทีคี อ้างว่าเพื่อดักโจมตีทหารพม่า แต่ปรากฏว่าจุดที่วางระเบิดไว้เป็นเส้นทางสัญจรของชาวบ้าน ไม่มีทหารพม่าเดินผ่าน จึงเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้คนในพื้นที่

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 หลัง LPDF และ KTLA ปิดถนน AH123 “ทีคี-ทวาย” ได้สัปดาห์เศษ เริ่มเกิดการปะทะกันระหว่าง KNLA 4 กับ KTLA-LPDF โดย KNLA 4 พยายามผลักดัน KTLA และ LPDF ให้ออกไปจากพื้นที่ มีรายงานการเสียชีวิตของทหาร KTLA จากนั้นได้มีการสู้รบระหว่าง KTLA-LPDF กับ KNLA 4 เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทั่งได้เกิดการปะทะใหญ่ขึ้นเมื่อวานนี้ (17 ก.พ.)




กำลังโหลดความคิดเห็น