xs
xsm
sm
md
lg

ประณาม PDF-KIA พฤติกรรมหยาบช้า บุกเผาสัญลักษณ์วัฒนธรรม “ไตแดง” หน้าระรื่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจากคลิปวิดีโอ แสดงพฤติกรรมของทหาร PDF-KIA ที่เผาทำลายกลองและเครื่องดนตรีที่เป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวไตแดง
MGR Online - กลุ่มเยาวชนไตแดงออกแถลงการณ์ส่งถึงรัฐบาลเงา NUG ในฐานะผู้บงการใหญ่ ประณามพฤติกรรม PDF ที่จับมือกับทหารคะฉิ่น บุกทำลายและล้อเลียนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมชาวไตแดงในภาคสะกายอย่างหน้าระรื่น ชี้หลายชาติพันธุ์ในพม่าแม้ขัดแย้ง-สู้รบกัน แต่ทุกกลุ่มต่างเคารพให้เกียรติวัฒนธรรมของคนต่างกลุ่ม

วันที่ 23 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา องค์กรเยาวชนไตแดงในพม่า (All Myanmar-Shan Ni Youth Organization : SNYO) ได้ออกแถลงการณ์ประท้วงพฤติกรรมของกองกำลังติดอาวุธฝ่ายต่อต้าน (PDF) ที่ได้สนธิกำลังกับกองทัพเอกราชคะฉิ่น (KIA) ซึ่งได้บุกเข้าไปเผาทำลายสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ไตแดง หลังทั้ง 2 กลุ่มได้ปะทะกับกองทัพไตแดง (Shani Nationalities Army : SNA) ที่บ้านน้ำลาง อำเภอฮองปยิน จังหวัดโห่มะลิน ภาคสะกาย ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2565


เอกสารแถลงการณ์เล่าถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า ในการปะทะกันเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ฝ่าย SNA ถูกรุกไล่โจมตีจนต้องหนีออกจากหมู่บ้านน้ำลาง ทหารของ PDF-KIA จึงเข้ายึดพื้นที่ บุกเผาทำลายบ้านเรือนชาวบ้านน้ำลาง และจัดตั้งหน่วยทหารควบคุมพื้นที่เอาไว้

ต่อมา วันที่ 5 มกราคม 2566 ทหาร SNA ได้บุกยึดหมู่บ้านแห่งนี้กลับคืนมาได้ รวมถึงจับกุมทหาร PDF-KIA จำนวนหนึ่งไว้เป็นเชลย และจากการตรวจโทรศัพท์มือถือของเชลยที่ถูกจับได้รายหนึ่ง พบว่า ได้บันทึกไฟล์วิดีโอที่แสดงถึงพฤติกรรมอันไม่เหมาะสมของทหาร PDF-KIA เอาไว้

ในคลิปวิดีโอ นอกจากทหารกลุ่มนี้จะบุกเผาทำลายบ้านเรือน เผาธงชาติไตแดงแล้ว ยังได้นำกลองก้นยาว ฆ้องมอง ฉาบ เครื่องดนตรีที่เป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวไตแดงและชาวไตทุกกลุ่มมาทุบ และเผาทำลาย รวมถึงยังแสดงท่าล้อเลียนการแสดงดนตรีของชาวไตอย่างสนุกสนาน


เอกสารแถลงการณ์ชี้แจงว่า ทุกชาติพันธุ์ในพม่าต่างมีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา ถึงแม้แต่ละชาติพันธุ์มีความขัดแย้งถึงขั้นจับอาวุธเข้าสู้รบกัน แต่ทุกกลุ่มต่างให้เกียรติและเคารพวัฒนธรรมที่แตกต่างกันของฝ่ายตรงข้าม การที่ทหาร PDF-KIA กลุ่มนี้ทำท่าล้อเลียน และยังทำลายเครื่องดนตรีที่เป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวไตแดง ถือเป็นพฤติกรรมที่หยาบหยาบช้า ไร้อารยธรรม

SNYO จึงจำเป็นต้องประท้วงโดยเผยแพร่แถลงการณ์ฉบับนี้ และได้ส่งเอกสารนี้ถึงผู้บัญชาการ KIA ผู้บัญชาการกองกำลังติดอาวุธ (PDF) รวมถึงรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ซึ่งเป็นผู้บงการและอยู่เบื้องหลังความเคลื่อนไหวของ KIA และ PDF ทุกกลุ่ม

แถลงการณ์ประท้วงพฤติกรรม PDF-KIA ที่กลุ่มเยาวชนไตแดงส่งถึงรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ
ไตแดงเป็นกลุ่มคนไตอีกกลุ่มหนึ่งที่ซึ่งมีความใกล้ชิดกับชาวไตคำตี่ ในรัฐอรุณาจัลประเทศ ของอินเดีย ส่วนในพม่า ชาวไตแดงตั้งชุมชนกระจายตัวอยู่ตามที่ราบลุ่มแม่น้ำชินดวิน และอีกหลายพื้นที่ในรัฐคะฉิ่น ภาคสะกาย ยาวแต่ชายแดนพม่า-จีน ถึงชายแดนพม่า-อินเดีย และในรัฐชานอีกบางส่วน ชาวไตแดงมีวัฒนธรรม ภาษา การแต่งกายแบบเดียวกับชาวไทใหญ่ และชาวไตกลุ่มอื่นๆ ในรัฐชาน

ส่วน SNA เป็นกองกำลังติดอาวุธของชาวไตแดง มีฐานใหญ่อยู่ในภาคสะกาย โดยเฉพาะในจังหวัดโห่มะลิน ซึ่งมาจากคำว่า “ฮมหมาก-ลาง” ที่แปลว่าร่มต้นขนุนในภาษาไต มีบทบาทในการคุ้มครองความปลอดภัย และปกป้องผลประโยชน์ชุมชนของชาวไตแดงในภาคสะกายและคะฉิ่น

หลังการรัฐประหารของกองทัพพม่าเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 แม้ SNA ไม่ได้สนับสนุนกองทัพพม่า แต่ก็ไม่ได้ต่อต้าน ทหารพม่าและ SNA มีการปะทะกันเกิดขึ้นบ้าง หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ของอีกฝ่าย โดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า

อย่างไรก็ตาม หลังการสู้รบระหว่างทหารพม่ากับกองกำลัง PDF และ KIA เริ่มรุนแรงขึ้นตั้งแต่กลางปี 2565 เป็นต้นมา ทหาร PDF และ KIA หลายกลุ่มได้เคลื่อนไหวรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่รับผิดชอบของ SNA ทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายได้เปิดศึกสู้รบกันในหลายจุดในภาคสะกาย โดยกำลังผสม PDF-KIA ได้บุกเผาหมู่บ้านไตแดงหลายแห่ง มีชายไตแดงหลายคนถูกจับไปเป็นเชลย รวมถึงยังได้สังหารพระสงฆ์ผู้เป็นที่เคารพนับถือของชาวไตแดงรูปหนึ่งอย่างโหดเหี้ยมเมื่อปลายปีที่แล้ว

ปัจจุบัน ในภาคสะกายยังคงมีการสู้รบระหว่าง SNA กับกองกำลังผสม PDF-KIA เกิดขึ้นเป็นระยะ.






กำลังโหลดความคิดเห็น