MGR Online - กองทัพกอทูเล ที่เพิ่งตั้งขึ้นโดยนายพลเนอดา เมียะ จับมือกับกองกำลัง PDF สั่งปิดทางหลวงหมายเลข 123 จากด่านทีคี ตรงข้ามบ้านพุน้ำร้อน จังหวัดกาญจนบุรี ไปเมืองทวาย ระยะทาง 156 กิโลเมตร ห้ามรถทุกชนิดผ่านเด็ดขาด
ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 21 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา กองกำลังติดอาวุธฝ่ายต่อต้าน (PDF) ที่ใช้ชื่อว่า Nway Oo Guerrilla Force (LPDF) ได้สนธิกำลังกับกองทัพ Kawthoolei Army (KTLA) ประกาศปิดทางหลวงเอเชียหมายเลข 123 (AH123) ช่วงที่เชื่อมจากด่านชายแดนทีคี ไปเมืองทวาย ภาคตะนาวศรี ระยะทางประมาณ 156 กิโลเมตร ห้ามผู้คน และรถทุกชนิดสัญจรผ่านอย่างเด็ดขาด
LPDF และ KTLA อ้างเหตุผลว่า เนื่องจากตลอดเส้นทางหลวง AH123 กำลังมีการสู้รบกันอย่างหนักกับกองทัพพม่า ดังนั้น จึงต้องปิดถนนเพื่อความปลอดภัยของประชาชน
ด่านชายแดนทีคี อยู่ตรงข้ามจุดผ่านแดนถาวรพุน้ำร้อน ตำบลบ้านเก่า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ของไทย
ทางหลวง AH123 “ทีคี-ทวาย” ช่วงที่ถูกปิดเป็นเส้นทางที่ผู้นำเข้าของพม่า ใช้เป็นเส้นทางเลี่ยงเพื่อขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภคที่ซื้อไปจากไทย โดยไม่ต้องผ่านทางหลวงเอเชียหมายเลข 1(AH1) “เมียวดี-กอกะเร็ก-พะอัน” ที่มักเกิดการสู้รบระหว่างทหารพม่ากับกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) และ PDF ขึ้น จนต้องถูกปิดไปบ่อยครั้ง
ช่วงที่มีการรบหนักในรัฐกะเหรี่ยง ถนนสายทีคี-ทวาย ได้รับผลกระทบอยู่บ้างเป็นระยะ โดยกองกำลัง PDF มักดักโจมตีและเผารถบรรทุกน้ำมันและแก๊ส CNG ที่นำเข้าไปจากประเทศไทย มีรถแก๊สและรถน้ำมันหลายคัน ถูกเผาบนถนนสายนี้
พื้นที่ซึ่งทางหลวง AH123 ทีคี-ทวาย พาดผ่าน อยู่ในความรับผิดชอบของกองพลที่ 4 (KNLA 4) กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง ซึ่งดูแลตั้งแต่จังหวัดเร ภาคใต้ของรัฐมอญ ลงมาครอบคลุมภาคตะนาวศรีทั้งหมด
ทางหลวง AH123 ทีคี-ทวาย จะมีบทบาทสำคัญมากหากมีการเดินหน้าโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกทวาย เพราะต้องถูกใช้เป็นเส้นทางหลักสำหรับขนส่งวัตถุดิบและวัสดุก่อสร้างที่จะนำไปใช้ในโครงการนี้
จากด่านชายแดนทีคี-บ้านพุน้ำร้อนเข้าไปตามทางหลวง AH123 ไม่ไกลนัก เป็นที่ตั้งของโครงการนิคมอุตสาหกรรม Mae Tha Mee Khee พื้นที่รวม 6,676 เอเคอร์ (16,886 ไร่) แบ่งเป็นเขตอุตสาหกรรม 3,380 เอเคอร์ (8,549 ไร่) เขตเมืองอุตสาหกรรม 3,100 เอเคอร์ (7,841 ไร่) และพื้นที่คลังสินค้าทัณฑ์บนอีก 196 เอเคอร์ (496 ไร่)
นิคมอุตสาหกรรม Mae Tha Mee Khee เป็นโครงการของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) เคยมีการเซ็น MOU กับรัฐบาลภาคตะนาวศรีมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อเดือนธันวาคม 2559 แต่ถูกภาคประชาสังคมในพม่าตั้งคำถามถึงความโปร่งใสในการโยกย้ายชุมชน ทำให้ต้องชะลอโครงการไป กระทั่งวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 รัฐบาลภาคตะนาวศรีได้กลับมาเซ็น MOU กับบริษัท Mae Tha Mee Khee เพื่อจะฟื้นนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ขึ้นมาใหม่อีกครั้ง
บริษัท Mae Tha Mee Khee เป็นการร่วมทุนระหว่าง Noble Prince บริษัทเพื่อการลงทุนของ KNU ที่รับผิดชอบโดย KNLA 4 กับ Sun and Rainbow บริษัทเอกชนในภาคตะนาวศรี ตามข่าวที่เผยแพร่ในวันเซ็น MOU ระบุว่านิคมอุตสาหกรรม Mae Tha Mee Khee จะได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากบริษัท Power Construction Corporation of China หรือ Power China บริษัทของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน
อย่างไรก็ตาม หลังการรัฐประหารซึ่งทำให้เกิดความตึงเครียดอย่างหนักระหว่างกองทัพพม่ากับกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ข่าวความคืบหน้าของโครงการนิคมอุตสาหกรรม Mae Tha Mee Khee ก็เงียบไป
สำหรับกองทัพ Kawthoolei Army (KTLA) เป็นกองกำลังติดอาวุธกลุ่มใหม่ของกะเหรี่ยงที่เพิ่งสถาปนาขึ้นโดยนายพลเนอดา เมียะ อดีตผู้บัญชาการองค์กรป้องกันแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNDO) และเป็นลูกชายของนายพลโบเมียะ อดีตประธาน KNU
นายพลเนอดา เมียะ ได้รวบรวมสมัครพรรคพวกออกมาตั้ง KTLA เมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 หลังเขาถูกบีบให้ต้องออกจากการเป็นสมาชิก KNU จากกรณี KNDO สังหารหมู่ทหารพม่า 25 ศพ ที่ตำบลวาเลย์ จังหวัดเมียวดี เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2564 ซึ่งผลการสอบสวนของ KNU สรุปว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎระเบียบของ KNU
นอกจากนี้ แกนนำ KNU ยังมองว่านายพลเนอดา เมียะ ฝักใฝ่ฝ่าย PDF ซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นโดยรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) รัฐบาลเงาของพรรค NLD มากเกินไป โดยแกนนำ KNU บางคนเกรงว่า ในอนาคตหาก NUG ได้รับชัยชนะในการต่อสู้กับรัฐบาลทหารของกองทัพพม่า กองกำลัง PDF ที่นายพลเนอดา เมียะฝักใฝ่อยู่นั้น จะย้อนกลับมาทำสงครามกับกองทัพกะเหรี่ยง เพื่อต้องการควบคุมดินแดนรัฐกะเหรี่ยงทั้งหมด.