รอยเตอร์ - นักเคลื่อนไหวชาวพม่าและผู้ที่อ้างว่าเป็นเหยื่อการล่วงละเมิด 16 คน ได้ยื่นคำร้องทางอาญาในเยอรมนี โดยกล่าวหาว่านายพลระดับสูงของพม่ายุยงปลุกปั่นให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ต่อชาวมุสลิมโรฮิงญา และการกระทำโหดร้ายทารุณอื่นๆ นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารเมื่อ 2 ปีก่อน
การยื่นคำร้องครั้งนี้เป็นความพยายามทางกฎหมายระหว่างประเทศครั้งล่าสุดที่พยายามให้กองทัพพม่ารับผิดชอบต่อการกระทำทารุณโหดร้ายต่อชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮิงญาของประเทศ และผู้สนับสนุนประชาธิปไตยและพลเรือนที่ต่อต้านการรัฐประหาร
Fortify Rights กลุ่มสิทธิมนุษยชนที่สนับสนุนการร้องเรียนดังกล่าว ระบุว่า เหตุที่เลือกเยอรมนีเนื่องจากประเทศยอมรับในหลักการของเขตอำนาจศาลสากล ซึ่งถือเป็นศาลระดับชาติที่สามารถพิจารณาคดีกับบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าก่ออาชญากรรมร้ายแรงได้
“คำร้องยังแสดงหลักฐานใหม่ที่พิสูจน์ว่าทหารพม่าได้กระทำการสังหาร ข่มขืน ทรมาน คุมขัง ทำให้หายสาบสูญ ประหาร และกระทำการสิ่งต่างๆ อย่างเป็นระบบซึ่งเทียบเท่ากับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และอาชญากรรมสงคราม” ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง Fortify Rights กล่าวแถลงข่าว และกลุ่มหวังให้ทางการเยอรมนีรับคำร้องและดำเนินการสอบสวน
ทั้งนี้ โฆษกของรัฐบาลทหารพม่าไม่ได้รับสายที่รอยเตอร์ติดต่อเพื่อขอความเห็นเกี่ยวกับการยื่นคำร้องในเยอรมนี ขณะที่สถานทูตเยอรมนีในพม่าก็ไม่สามารถติดต่อเพื่อขอความคิดเห็นได้เช่นกัน
เมื่อปีที่ผ่านมา ศาลเยอรมนีได้ตัดสินจำคุกตลอดชีวิตกับอดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองซีเรีย จากข้อหาฆาตกรรม ข่มขืน และก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ซึ่งนับเป็นการตัดสินครั้งแรกสำหรับการทรมานที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐที่เกิดขึ้นระหว่างสงครามกลางเมืองซีเรีย
สำหรับผู้ร้องเรียน 16 คนในพม่า ยังรวมถึงชาวโรฮิงญา และผู้ที่รอดชีวิตหรือพบเห็นอาชญากรรมในพม่านับตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร Fortify Rights ระบุ
ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศกำลังพิจารณาข้อกล่าวหาว่าพม่ากระทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในคดีที่แกมเบียยื่นฟ้อง หลังชาวโรฮิงญาหลายแสนคนอพยพไปบังกลาเทศเพื่อหลบหนีการรุกรานของกองทัพพม่าที่เริ่มขึ้นในเดือน ส.ค.2560
เมื่อปีที่ผ่านมา กลุ่มภาคประชาสังคม Myanmar Accountability Project ระบุว่าทางการตุรกีได้เริ่มสอบสวนเบื้องต้นหลังกลุ่มยื่นฟ้องสมาชิกของรัฐบาลทหารพม่าจากข้อกล่าวหากระทำการทารุณโหดร้ายนับตั้งแต่เกิดรัฐประหาร
ในกรณีโรฮิงญา ทางการพม่าเคยกล่าวว่าพวกเขาดำเนินการปฏิบัติการอย่างถูกต้องตามกฎหมายต่อกลุ่มติดอาวุธที่โจมตีด่านตำรวจ
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลทหารยังปฏิเสธว่าทหารไม่ได้กระทำการอย่างทารุณโหดร้ายตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร และโต้แย้งตัวเลขผู้เสียชีวิตที่นักเคลื่อนไหวระบุไว้ รวมทั้งยังเรียกฝ่ายตรงข้ามพวกเขาว่าเป็นผู้ก่อการร้าย.