xs
xsm
sm
md
lg

บันทึกทุ่งสังหาร/โดย "หนังเร่"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: หนังเร่



จู่ๆ ผู้เขียนก็มีโอกาสได้เดินทางไปยังกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชาโดยไม่คาดฝันมาก่อน จากที่ตั้งใจจะมาแค่นครวัด นครธม เมืองเสียมเรียบ มิตรสหายที่ร่วมเดินทางบอกไหนๆ ได้มีโอกาสมาแล้วเราควรไปให้ไกลมากกว่านี้

ว่าแล้วก็วางแผนเดินทางต่อไปที่พนมเปญ เลยเข้าเมืองไซ่ง่อนหรือโฮจิมินห์ซิตี้ ประเทศเวียดนาม นั่งรถไฟต่อไปที่ดานัง วกกลับเข้าฮอยอันก่อนเดินทางไปเมืองเว้ แล้วเข้าประเทศลาวที่เมืองสะหวันนะเขต กลับสู่ประเทศไทยด้านมุกดาหาร

บนเส้นการเดินทางมีเมืองหนึ่งที่ผู้เขียนไปสัมผัสแล้วรู้สึกสลดหดหู่กับชะตากรรมอันโหดร้ายของมนุษย์ที่กระทำต่อมนุษย์ด้วยกัน ยิ่งได้ไปสัมผัสสถานที่จริงในการเข่นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ยิ่งรู้สึกจุกอยู่ในอกเหมือนมีนรกอยู่ในใจ นั่นคือกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา

ระหว่างท่องอยู่ในเมืองพนมเปญ ได้เข้าไปดูสถานที่ประวัติศาสตร์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์สองแห่ง ที่แรกคือ พิพิธภัณฑ์ตวลสเลง (Tuol Sleng Genocide Museum) ที่ถูกแปรสภาพจากโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งให้เป็นคุกคุมขัง ทรมานร่างกายเหล่านักเขียน นักวิชาการ พระภิกษุ ปัญญาชน และศิลปิน ที่เขมรแดงมองว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองของตน ในช่วงที่เขมรแดงเรืองอำนาจในปี 1975-1979

เชื่อกันว่ามีผู้เสียชีวิตในสถานที่แห่งนี้ไม่ต่ำกว่าหนึ่งหมื่นคน ยังไม่รวมบางส่วนที่ถูกส่งตัวไปฆ่าที่ทุ่งสังหารเจิงเอง (Choeung Ek The Killing Field) หากใครได้ดูหนังเรื่องทุ่งสังหาร The Killing Field ที่ออกฉายเมื่อปี 2527 ซึ่งส่วนใหญ่มาถ่ายทำในบ้านเรา เนื้อหาพูดถึงความโหดร้าย เหี้ยมโหดของเขมรแดง เล่าเรื่องผ่านประสบการณ์จริงของนักข่าวหนังสือพิมพ์ที่เข้าไปทำข่าวในกัมพูชาขณะนั้น

นั่นคือ ซิดนีย์ ชานเบิร์ก นักข่าวชาวอเมริกัน ดิธ ปราน ล่ามและนักข่าวชาวเขมร และจอน สเวน นักข่าวชาวอังกฤษ ซึ่งหนังเรื่องนี้ได้รับรางวัลออสการ์ครั้งที่ 57 จากผลงานการกำกับของโรแลนด์ จอฟเฟ นำแสดงโดยแซม วอเตอร์สตัน, ดร. เฮียง เอส. งอร์, จูเลียน แซนด์, และ จอห์น มัลโควิช

ยิ่งผู้เขียนได้ย้อนรำลึกถึงหนังเรื่องนี้ในสถานที่จริงที่เรียกกันว่าทุ่งสังหาร ที่มีกะโหลกมนุษย์เรียงรายซ้อนทับนับพันนับหมื่นชิ้นแสดงโชว์ให้ผู้มาเยี่ยมเยือนสถานที่แห่งนี้ได้ตระหนักถึงความเหี้ยมโหดของสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ด้วยแล้ว ผู้เขียนก็ยิ่งรู้สึกจุกแน่นหน้าอกเหมือนคนหายใจไม่ออกปานจะสิ้นใจ จนต้องรีบเดินออกจากทุ่งสังหารนี้อย่างรวดเร็วที่สุด มานั่งสูดลมหายใจลึกๆ อยู่ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์

ระหว่างอยู่ที่หน้าพิพิธภัณฑ์ตวลเสลง ผู้เขียนได้นั่งกินกาแฟที่ร้านเล็กๆ แห่งหนึ่งที่อยู่ตรงข้ามทางเข้าตัวพิพิธภัณฑ์เพื่อรอคอยมิตรสหายที่กำลังไปจัดการเรื่องตั๋วเข้าชม ในร้านมีมุมหนังสือเล็กๆ ชั้นหนังสือประกอบไปด้วยหนังสือภาษาอังกฤษที่เกี่ยวกับเรื่องสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในเขมรเกือบทั้งหมดวางโชว์ให้นักท่องเที่ยวเลือกซื้อ สายตาผู้เขียนสะดุดตาหนังสือเล่มหนึ่ง หน้าปกมีชื่อว่า First They Killed My Father

จำได้ว่าหนังสือเล่มนี้ได้ถูกนำมาแปลเป็นภาษาไทยเมื่อหลายปีก่อน มีชื่อไทยว่า ‘เมื่อพ่อของฉันถูกฆ่า’ เขียนโดย Loung Ung (หลง อึ้ง) แปลโดย นรา สุภัคโรจน์ ซึ่งผู้เขียนหนังสือแล่มนี้ได้ถ่ายทอดประสบการณ์จริงของตนและครอบครัว ในช่วงกรุงพนมเปญแตก ปี 1975 ขณะนั้นเธออายุได้เพียงห้าขวบ ซึ่งกองกำลังเขมรแดงภายใต้การคุมอำนาจของพล พต ได้ทำการกวาดล้างกลุ่ม ปัญญาชน คนชั้นกลาง ฝ่ายหัวก้าวหน้า

ในตอนนั้นกลุ่มกองกำลังเขมรแดงได้บุกล้อมบ้านเธอในกลางกรุงพนมเปญ จับเธอและครอบครัวส่งไปใช้แรงงานในแคมป์ชนบทห่างไกลบ้านไกลเมือง ถูกทำร้ายทรมานร่างกายอย่างแสนทารุณจนพ่อ แม่และพี่สาวของเธออีกสองคนต้องเสียชึวิต มีเธอและพี่ชายที่หนีรอดชีวิตมาได้

หลวง อึ้ง บันทึกชีวิตอันแสนหดหู่ เจ็บปวดรวดร้าวของเธอ ผ่านหนังตัวสือที่มีพลังกระแทกใจผู้อ่านให้เจ็บปวดรวดร้าวไปกับเธอ ส่วนหนึ่งในบันทึกของเธอกล่าวว่า

“พวกเขาทำงานหนักมาก บางวันปลูกข้าว ปลูกผักหรือตัดไม้ บางวันไปสร้างเขื่อน หรือขุดแนวดิน แต่ไม่ว่าจะทำงานหนักแค่ไหน อาหารที่ได้รับกลับน้อยลงเรื่อยๆ เรามีข้าวไม่พอกินจนต้องผสมกับเห็ด หยวกกล้วย หรือใบผักต่างๆ หลังจากผ่านไปไม่กี่สัปดาห์ แม้แต่ผักหญ้าก็ยังหายาก เมื่อจับสัตว์อะไรก็ตามได้ เราจะกินเรียบ ทั้งตีน ลิ้น หนัง และเครื่องใน”

หนังสือเล่มนี้ได้ถูกนำมาถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์ กำกับการแสดงโดย ‘แองเจลิน่า โจลี่’ โดย โจลี่ได้รับการอนุญาตจากรัฐบาลกัมพูชาให้ทีมงานของเธอสามารถเข้าไปถ่ายทำที่จังหวัดพระตะบอง ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่กำลังถูกกล่าวถึงอย่างวงกว้าง สามารถหาดูภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ทาง NETFLIX

ขณะที่เขียนงานชิ้นนี้ ผู้เขียนยังคงเดินทางท่องไปบนเส้นทางมิตรภาพอินโดจีน นั่งจิบเบียร์ลาวเย็นๆ ริมแม่น้ำคาน เมืองหลวงพระบาง เพื่อเยียวยาหัวใจอันปวดร้าวหวนรำลึกถึงผู้ถูกเข่นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เหล่านั้น พร้อมกับคิดถึงบ้านเกิดเมืองนอนและไพล่คิดในใจว่า

ประเทศไทยเราโชคดีที่ไม่เคยมีเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จนมีผู้สูญเสียชีวิตหลายล้านคน…



กำลังโหลดความคิดเห็น