MGR ออนไลน์ - เร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศของอินโดนีเซียกล่าวว่า เธอจะเป็นหัวหน้าของสำนักงานผู้แทนพิเศษที่อินโดนีเซียตั้งขึ้นเพื่อเป็นหัวหอกในการจัดการกับวิกฤตในพม่าของอาเซียน
ในปีนี้ อินโดนีเซียเป็นประธานหมุนเวียนของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในฐานะหัวหน้าสำนักงานผู้แทนพิเศษ มาร์ซูดี กล่าวว่า เธอจะพยายามมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดในพม่า โดยระบุว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องมีการเจรจาในระดับชาติเพื่อจัดการแก้ไขวิกฤตที่ส่งผลกระทบต่อประเทศสมาชิกอาเซียน
รัฐบาลทหารในกรุงเนปีดอวางแผนที่จะจัดการเลือกตั้งทั่วไปในปีนี้
“อินโดนีเซียร้องขอให้เลขาธิการอาเซียนสามารถเข้าถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด” รัฐมนตรีอินโดนีเซียกล่าว และยังขอให้ทางการพม่าอนุญาตการเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
“อินโดนีเซียจะพยายามทุกวิถีทางเพื่อช่วยพม่าออกจากวิกฤตทางการเมือง” มาร์ซูดี กล่าว
กองทัพพม่ายึดอำนาจทางการเมืองในเดือน ก.พ.2564
มาร์ซูดี กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวของอินโดนีเซียนั้นสอดคล้องกับการตัดสินใจในเดือน พ.ย. ของผู้นำอาเซียนที่การประชุมสุดยอดของกลุ่มในกรุงพนมเปญ รวมถึงสอดคล้องตามฉันทมติ 5 ข้อ เกี่ยวกับพม่าที่อาเซียนรับรองก่อนหน้านี้ ขณะเดียวกัน ยังกล่าวว่าอาเซียนรู้สึกผิดหวังต่อการขาดความคืบหน้าของรัฐบาลทหารในการดำเนินการตามฉันทมติ
ฉันทมติ 5 ข้อ ยังรวมถึงการเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงในทันที เริ่มการเจรจาอย่างสร้างสรรค์ระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และการเยือนพม่าของผู้แทนพิเศษอาเซียน
มาร์ซูดี เสริมว่า อาเซียนจะยังคงร่วมมือกับผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติในการจัดการกับพม่า และยังย้ำว่าประเด็นปัญหาพม่าจะไม่ทำให้อาเซียนเป็นตัวประกัน
ทั้งนี้ อินโดนีเซียตั้งใจที่จะให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นศูนย์กลางของการเติบโตในขณะดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน ขยายความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคด้านความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน ตลอดจนประเด็นอื่นๆ ด้วยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่า 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปี 2566 และมุ่งให้ความสนใจกับการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ที่จะเป็นศูนย์กลางของการเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียน.