MGR Online - เตรียมเชื่อม 2 โครงข่ายรางรถไฟ “ลาว-จีน” กับรถไฟ “ลาว-ไทย” ระยะทาง 4 กิโลเมตร กำหนดแล้วเสร็จ 26 มิถุนายนนี้ เพื่อเพิ่มความสะดวกในการขนส่งสินค้าข้ามประเทศ โดยเฉพาะระหว่างจีนผ่านลาวเข้าไทย
วันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา สาคอน พิลางาม ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทท่าบกท่านาแล้ง ซึ่งอยู่ในพื้นที่โครงการเวียงจันทน์ โลจิสติก พาร์ค ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนลาวและจีนว่า การเชื่อมต่อโครงข่ายรถไฟลาว-จีน กับโครงข่ายรถไฟลาว-ไทย ได้กำหนดให้แล้วเสร็จในวันที่ 26 มิถุนายน 2565 ซึ่งจากนั้นจะมีผลให้ท่าบก (dry port) ท่านาแล้ง เป็นศูนย์รวมการขนถ่ายสินค้าที่ซื้อขายกันระหว่างจีนกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะระหว่างจีนซึ่งใช้รางรถไฟกว้าง 1.435 เมตร กับไทยที่ใช้รางกว้าง 1 เมตร
การเชื่อมต่อ 2 โครงข่ายทางรถไฟดังกล่าว บริษัทท่าบกท่านาแล้ง ได้ลงทุนวางรางรถไฟจากสถานีท่านาแล้งขึ้นมายังท่าบกท่านาแล้ง ระยะทาง 1.2 กิโลเมตร ขณะเดียวกัน บริษัทรถไฟลาว-จีน ได้ลงทุนวางรางรถไฟสถานีสินค้าเวียงจันทน์ใต้ ลงมายังท่าบกท่านาแล้ง ระยะทาง 2.8 กิโลเมตร
สถานีท่านาแล้งเป็นต้นทางของโครงข่ายรถไฟลาว-ไทย ผ่านรางรถไฟที่วางจากลาวข้ามแม่น้ำโขงผ่านสะพานมิตรภาพไปยังสถานีรถไฟหนองคาย ส่วนสถานีสินค้าเวียงจันทน์ใต้ เป็นสถานีสุดท้ายของทางรถไฟลาว-จีน
อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทท่าบกท่านาแล้ง กล่าวว่า การรางรถไฟที่วางจากสถานีเวียงจันทน์ใต้มายังท่าบกท่านาแล้ง จะใช้เพื่อขนส่งสินค้าเท่านั้น เพราะที่ผ่านมา เมื่อขบวนรถไฟลาว-จีน มาถึงปลายทางที่สถานีเวียงจันทน์ใต้แล้ว ต้องใช้รถบรรทุกขนสินค้าส่งต่อลงมายังท่าบกท่านาแล้งอีกทอดหนึ่ง เพื่อส่งต่อเข้าไปในไทยและประเทศอื่นๆ
การวางรางรถไฟเพื่อเชื่อมต่อสถานีเวียงจันทน์ใต้ ผ่านท่าบกท่านาแล้ง ไปยังสถานีท่านาแล้ง จะทำให้การขนส่งสินค้าที่ซื้อขายกันระหว่างจีนผ่านลาวเข้าไทย และต่อไปยังประเทศอื่นๆ หรือสินค้าที่ไทยส่งผ่านลาวขึ้นไปยังจีน สามารถทำได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น
สาคอน กล่าวว่า นับแต่ท่าบกท่านาแล้งเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2564 เป็นต้นมา ได้ให้บริการขนถ่ายสินค้าที่ส่งผ่านเส้นทางรถไฟลาว-จีนแล้ว 11,000 ตู้คอนเทนเนอร์ ในนี้ 80% เป็นสินค้าผ่านแดนจากจีนผ่านลาวข้ามไปยังไทย เพื่อส่งต่อไปยังพม่า กัมพูชา เวียดนาม และมาเลเซีย ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุตสาหกรรม เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า ปุ๋ย เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม
ส่วนสินค้าลาวที่ส่งขึ้นไปขายยังจีน ได้แก่ แร่เหล็ก แป้งมันสำปะหลัง ยางพารา ผลไม้ และแร่ธาตุต่างๆ ขณะที่สินค้าที่ส่งจากไทยผ่านลาวเพื่อข้ามขึ้นไปยังจีน ส่วนใหญ่เป็นข้าว ผลไม้ และยางพารา.