xs
xsm
sm
md
lg

เจ้าหน้าที่พม่าแจงรัฐบาลทหารไร้แผนฉีดวัคซีนป้องกันโควิดให้โรฮิงญาในยะไข่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - เจ้าหน้าที่ในพม่าไม่มีแผนที่จะรวมชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮิงญาที่อาศัยอยู่ตามค่ายพักพิงต่างๆ ในขณะที่พวกเขาเริ่มฉีดวัคซีนให้กลุ่มคนสำคัญที่ต่อสู้กับโควิด-19 ในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของประเทศ ผู้บริหารท้องถิ่นที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลทหาร ระบุ

โรฮิงญาหลายแสนคนหลบหนีไปบังกลาเทศระหว่างปฏิบัติทางทหารในปี 2560 และส่วนโรฮิงญาที่ยังอยู่ในรัฐยะไข่ ร้องเรียนถึงการเลือกปฏิบัติและการถูกข่มเหงในประเทศที่โรฮิงญาไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นพลเมือง

จ่อ ละวิน ผู้บริหารท้องถิ่น กล่าวกับรอยเตอร์จากเมืองสิตตะเว ว่า การฉีดวัคซีนในพื้นที่ได้เริ่มขึ้นแล้วกับกลุ่มที่มีความสำคัญ เช่น ผู้สูงอายุ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เจ้าหน้าที่รัฐ และพระสงฆ์ แต่ตอนนี้ยังไม่มีแผนฉีดวัคซีนให้ชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ตามค่ายพักพิงต่างๆ ในเมืองสิตตะเว

“เราปฏิบัติตามคำสั่งเท่านั้น” จ่อ ละวิน กล่าว โดยปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นว่า แนวทางปฏิบัติของรัฐเป็นการเลือกปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญาหรือไม่

“ทั้งหมดขึ้นอยู่กับจำนวนวัคซีนที่เราได้รับ และคำแนะนำที่เราได้รับ ซึ่งจนถึงตอนนี้ เรายังไม่ได้รับคำสั่งในเรื่องนี้” จ่อ ละวิน กล่าว

โฆษกกระทรวงสาธารณสุขของพม่าและเจ้าหน้าที่ทหารไม่ได้ตอบรับสายที่รอยเตอร์ติดต่อขอความเห็นเรื่องแผนการฉีดวัคซีน


การตอบสนองต่อการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ของพม่าเกือบล่มลง หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. เนื่องจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจำนวนมากผละงานประท้วง แต่เวลานี้กองทัพกำลังพยายามเพิ่มการฉีดวัคซีน ท่ามกลางการเผชิญกับการติดเชื้อครั้งเลวร้ายที่สุด ซึ่งตามข้อมูลของทางการระบุว่า มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยเกือบ 300 คนต่อวันในช่วงไม่กี่วันมานี้ แต่แพทย์เชื่อว่าตัวเลขดังกล่าวต่ำกว่าความเป็นจริง

กระท่อมที่อัดแน่นตั้งขนาบทางเดินแคบๆ เต็มไปด้วยโคลน ที่ชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่หลังรั้วลวดหนามเพื่อแยกพวกเขาออกจากชาวพุทธส่วนใหญ่ในเมืองสิตตะเว ก็ได้รับผลกระทบจากโควิดเช่นกัน ผู้อยู่อาศัย ระบุ

นู หม่อง อายุ 51 ปี จากค่ายเต๊ต กาล พะยิน กล่าวกับรอยเตอร์ว่า เจ้าหน้าที่ได้รวบรวมรายชื่อสำหรับการฉีดวัคซีน หากมีวัคซีนเพียงพอสำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี แต่ก็ไม่มีสัญญาณว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้น

ตัวเขาเองมีอาการติดเชื้อโควิด แต่ก็ไม่สามารถไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจสอบได้

“หลายคนมีอาการป่วย ป่วยหนักมาก มีคนเสียชีวิต 2-3 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ” นู หม่อง กล่าว

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ไม่ได้ระบุจำนวนผู้ติดเชื้อในค่ายพักพิงเหล่านั้น

ผู้อยู่อาศัยในค่ายพะเย ยา กอน และค่ายเต๊ต คาล พะยิน ที่อยู่ใกล้เมืองสิตตะเว กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ไม่ได้ส่งคนมาเตรียมพื้นที่สำหรับการฉีดวัคซีน

ซอ วิน ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนจากกลุ่ม Fortify Rights กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องน่าตกใจ แต่ก็ไม่แปลกใจที่โรฮิงญาจะไม่ได้ถูกจัดลำดับความสำคัญในการฉีดวัคซีน

“โรฮิงญาเผชิญกับข้อจำกัดเต็มที่พิกัดทั้งในด้านสิทธิและการใช้ชีวิตประจำวันของพวกเขามานานแล้ว รวมถึงสิทธิในด้านสุขภาพ ชาวโรฮิงญาที่เราพูดคุยด้วยในตอนเหนือของรัฐยะไข่ ได้แสดงความกลัวและไม่ไว้วางใจระบบการแพทย์ของรัฐ และอะไรจะเกิดขึ้นกับพวกเขา หากพวกเขาพยายามที่จะไปโรงพยาบาลด้วยอาการป่วยโควิด” ซอ วิน กล่าวกับรอยเตอร์

ชาวโรฮิงญาอย่างน้อย 700,000 คนหลบหนีออกจากรัฐยะไข่ไปบังกลาเทศในปี 2560 ระหว่างปฏิบัติการของกองทัพภายใต้การบังคับบัญชาของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หลาย ที่ในเวลานี้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรัฐบาลทหาร

ผู้สอบสวนของสหประชาชาติกล่าวว่า ปฏิบัติการทางทหารดังกล่าวมีเจตนาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่กองทัพปฏิเสธและกล่าว่า พวกเขามีจุดมุ่งหมายที่จะปราบปรามผู้ก่อการร้าย.


กำลังโหลดความคิดเห็น