xs
xsm
sm
md
lg

“หงปัง” บริษัทในเครือว้าแสดงอิทธิพล บุกยึดที่ดินทำกินชาวบ้านในท่าขี้เหล็ก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ส่วนหนึ่งของรั้วไม้ที่ถูกรื้อลงมาเมื่อคืนวันที่ 2 มิถุนายน และรอดจากการถูกเผา รั้วบางส่วนยังมีป้ายเขียนว่า “มีผู้ครอบครอง ห้ามบุกรุก” ติดไว้ (ภาพจากสำนักข่าว Shan News)
MGR Online - “ว้า” กำลังขยายอิทธิพลมากขึ้นในรัฐชานตะวันออก หลังพม่ากลับมาปกครองระบอบทหาร ล่าสุด บริษัท “หงปัง” แขนขาธุรกิจของกองทัพสหรัฐว้าแสดงอำนาจ ยึดที่ดิน 200 ไร่ ของชาวท่าขี้เหล็กที่เคยเป็นปมขัดแย้งเมื่อ 2 ปีก่อนกลับไปครอบครองอีกครั้ง สร้างความร้าวฉาน เป็นระเบิดเวลาที่พร้อมปะทุได้ทุกเมื่อ

กลางดึกวันพุธที่ 2 มิถุนายนที่ผ่านมา ในเวลาเคอร์ฟิวห้ามทุกคนออกจากบ้านตามคำสั่งของกองทัพพม่า คนงานหลายคนของบริษัทหงปังในเมืองท่าขี้เหล็ก ได้บุกมารื้อถอนรั้วที่ชาวบ้านห่องนำมาล้อมที่ดินซึ่งเป็นแหล่งทำกินของแต่ละคนเอาไว้ จากนั้นได้จุดไฟเผาเสาไม้ของรั้วเหล่านั้น พร้อมกับเถียงนาของชาวบ้านอีก 2 หลัง จนไหม้วอดไปเกือบทั้งหมด

รั้วเหล่านี้ ชาวบ้านห่องเพิ่งนำมาปักล้อมที่ดินไว้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายนนี้เอง เพื่อกำหนดอาณาเขต และแสดงให้ทุกคนเห็นว่าที่ดินทุกแปลงมีเจ้าของ ห้ามมิให้บุคคลภายนอกบุกรุก เนื่องจากก่อนหน้านั้น บริษัทหงปังได้แสดงกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของที่ดินกว่า 80 เอเคอร์ (202 ไร่) ซึ่งชาวบ้านห่องใช้เป็นแหล่งทำมาหากิน สร้างรายได้เลี้ยงชีพมาตลอดหลายชั่วอายุคน

บ้านห่อง (บ้านเหนือ) อยู่ริมถนนสายท่าขี้เหล็ก-เมืองพง ในตำบลฮ่องลึก (ร่องลึก) อำเภอท่าขี้เหล็ก จังหวัดท่าขี้เหล็ก รัฐชานภาคตะวันออก ส่วนบริษัทหงปังเป็นแขนขาทางธุรกิจของกองทัพสหรัฐว้า (United Wa State Army : UWSA)

บริษัทหงปังทำธุรกิจหลากหลาย ทั้งรับเหมาก่อสร้าง ธุรกิจนำเข้า-ส่งออก เจ้าของแหล่งบันเทิง รวมถึงธุรกิจสีเทาที่เป็นแหล่งสร้างรายได้หลักให้แก่กองทัพสหรัฐว้า

ที่ดินบ้านห่องกว่า 200 ไร่ ที่ชาวบ้านใช้ทำกินมาหลายชั่วคน กำลังจะถูกยึดโดยบริษัทหงปัง ของกลุ่มว้า
เดิมสหรัฐว้ามีพื้นที่ปกครองตนเองอยู่ทางภาคเหนือของรัฐชาน บริเวณชายแดนจีน ตรงข้ามกับเขตปกครองตนเองชนชาติไต ลาหู่ และว้า เมิ่งเหลียน จังหวัดผูเอ่อร์ มณฑลยูนนาน โดยมีป๋างซาง เป็นเมืองหลวง ต่อมาช่วงปี 2533-2540 กองทัพพม่าต้องการเผด็จศึกเด็ดขาดกับทุกกองกำลังชาติพันธุ์ทั่วประเทศ จึงขอให้สหรัฐว้าส่งกำลังทหารจากป๋างซางลงมาช่วยรบกับกองทัพไทใหญ่ที่อยู่ตามแนวชายแดนไทย ในรัฐชานภาคตะวันออก

กำลังพลจำนวนมากของว้าลงมาตั้งฐานบัญชาการอยู่ในจังหวัดเมืองสาต ด้านตะวันตกของท่าขี้เหล็ก ตรงข้ามกับอำเภอเชียงดาว ฝาง และแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ หลังสถานการณ์สู้รบบริเวณนี้คลี่คลาย กองทัพพม่าตอบแทนกองทัพสหรัฐว้า โดยมอบพื้นที่เมืองสาตให้เป็นเขตปกครองของว้าเพิ่มขึ้นอีก 1 แห่ง

ปี 2541 บริษัทหงปังได้สร้างถนนระยะทาง 60 กิโลเมตร เชื่อมระหว่างท่าขี้เหล็กกับเมืองสาต จากนั้นได้เป็นผู้รับเหมาหลักในโครงการสร้างถนนสาย R3b ระยะทาง 253 กิโลเมตร จากท่าขี้เหล็ก ไปยังเชียงตุง ปลายทางเป็นชายแดนจีนที่เมืองลา เปิดใช้งานในปี 2547

ระหว่างปี 2541-2542 รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าใช้อาญาสิทธิ์เข้ายึดที่ดินทำกินของชาวบ้านห่องไปครอบครองกว่า 100 เอเคอร์ (253 ไร่) และแบ่งที่ดิน 20 เอเคอร์ (51 ไร่) ให้บริษัทหงปังสร้างเป็นโรงงานแปรรูปยางพารา ที่ดินที่เหลืออีก 80 เอเคอร์ กองทัพพม่าอนุญาตให้ชาวบ้านซึ่งเป็นเจ้าของเดิมเข้ามาทำการเกษตรเพื่อหารายได้เลี้ยงชีพต่อไปได้ แต่ไม่ยอมคืนกรรมสิทธิ์ครอบครองที่ดินให้

หลังเปลี่ยนมาเป็นรัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้ง ในปี 2561 ดร.ลินทุต มุขมนตรีรัฐชาน จากพรรค NLD ได้ประกาศนโยบายให้กองทัพพม่านำกรรมสิทธิ์ที่ดินซึ่งกองทัพเคยยึดไปครอบครองไว้ กลับมาคืนแก่เจ้าของเดิม ซึ่งรวมถึงที่ดิน 80 เอเคอร์ของชาวบ้านห่องแปลงนี้ด้วย

แต่ปรากฏว่าในเดือนพฤศจิกายน 2562 ขณะที่ชาวบ้านยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินคืนมา บริษัทหงปังกลับนำเครื่องมือเครื่องจักรมาล้อมรั้วที่ดินแปลงนี้ไว้ โดยอ้างว่าได้รับกรรมสิทธิ์อย่างถูกต้องจากกองทัพพม่าเรียบร้อยแล้ว สร้างความไม่พอใจอย่างมากแก่ชาวบ้าน เพราะทุกคนต่างใช้ที่ดินผืนนี้ทำนาปลูกข้าว ทำไร่อ้อย และสวนกล้วย หารายได้เลี้ยงปากเลี้ยงท้องมาเป็นเวลากว่า 20 ปี การที่บริษัทหงปังนำรั้วมาล้อมไว้ ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถเข้าไปทำมาหากินบนที่ดินได้

ชาวบ้านห่องรวมตัวกันรื้อรั้วที่บริษัทหงปังล้อมที่ทำกินของพวกเขาไว้ เมื่อเช้าวันที่ 9 พฤษภาคม (ภาพจากสำนักข่าว Tai Freedom)
ตอนสายของวันที่ 17 พฤศจิกายน 2562 ชาวบ้านห่อง ได้รวมตัวกันเข้ารื้อถอนรั้วเหล่านี้ทิ้ง ร้อนถึงผู้ว่าราชการจังหวัดท่าขี้เหล็กขณะนั้น ต้องเข้ามาไกล่เกลี่ยบรรเทาสถานการณ์ โดยเปิดให้ชาวบ้านได้กลับเข้าไปทำกินในพื้นที่ได้เช่นเดิม

แต่ผ่านไปไม่ถึง 2 ปี หลังเกิดการรัฐประหาร ในกลางดึกวันที่ 8 พฤษภาคม 2564 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเคอร์ฟิว เจ้าหน้าที่ตำรวจเมืองท่าขี้เหล็กได้พาคนงานของบริษัทหงปัง นำเครื่องจักรมาล้อมรั้วที่ดินกลับคืนไว้อีกครั้ง

ตอนเช้าวันที่ 9 พฤษภาคม ชาวบ้านห่องที่เตรียมเข้าไปทำไร่ ทำนาในที่ดิน เมื่อเห็นว่าถูกล้อมรั้วไว้อีกแล้ว จึงรวมตัวกันไปปรึกษากับเจ้าครูปานฉ่วย เจ้าอาวาสวัดบ้านห่อง เจ้าครูปานฉ่วย ได้นำชาวบ้านมาช่วยกันรื้อรั้วออก เพื่อเปิดทางให้ได้เข้าไปทำมาหากินในที่ดินของแต่ละคน

วันที่ 28 พฤษภาคม บริษัทหงปังและฝ่ายปกครองอำเภอท่าขี้เหล็ก ได้มีหนังสือนิมนต์เจ้าครูปานฉ่วย ไปหารือกันต่อหน้าตัวแทนคณะสงฆ์อำเภอท่าขี้เหล็ก ที่วัดสายเมืองในตัวเมืองท่าขี้เหล็ก ทุกฝ่ายพยายามบีบบังคับไม่ให้เจ้าครูปานฉ่วย เข้ามายุ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ อ้างว่าไม่ใช่กิจของสงฆ์ มิเช่นนั้นจะดำเนินคดีกับเจ้าครูปานฉ่วย จากนั้นคนงานของบริษัทหงปังก็ได้นำรั้วมาล้อมที่ดินไว้อีก

เช้าวันที่ 31 พฤษภาคม ชาวบ้านได้รวมตัวกันอีกครั้งเพื่อรื้อรั้วออก จากนั้นวันที่ 1 มิถุนายน ชาวบ้านได้นำไม้ไผ่มาปักล้อมที่ดินของแต่ละคนเอาไว้เพื่อแสดงอาณาเขต พร้อมเขียนป้ายระบุว่าที่ดินแปลงนี้มีเจ้าของ ห้ามผู้ใดบุกรุก แต่กลางดึกวันที่ 2 มิถุนายน รั้วไม้ที่ชาวบ้านล้อมไว้ ก็ถูกคนงานของบริษัทหงปังรื้อและเผาทิ้ง

กองทัพสหรัฐว้าเป็นกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ที่ใหญ่และมีอาวุธที่ทันสมัยที่สุดในพม่า หลังเกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ขณะที่กองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์หลายกลุ่มเริ่มเปิดศึกสู้รบกับกองทัพพม่า แต่กองทัพสหรัฐว้านิ่งเฉย ไม่ได้แสดงท่าทีใดๆออกมา

การไกล่เกลี่ยรอบแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 ระหว่างตัวแทนบริษัทหงปังกับชาวบ้านห่อง โดยมีฝ่ายปกครองท่าขี้เหล็กเป็นผู้ประสานงาน (ภาพจาก Tachileik News Agency)
แม้รัฐธรรมนูญพม่าฉบับปี 2551 รับรองให้พื้นที่ทั้งตอนบนติดชายแดนจีน และตอนล่างติดชายแดนไทย เป็นเขตพิเศษหมายเลข 2 ที่ปกครองโดยกองทัพสหรัฐว้า แต่กองทัพสหรัฐว้าได้เรียกร้องต่อรัฐบาลพม่ามาตลอด ให้ยกระดับพื้นที่ของตน ขึ้นเป็นรัฐชาติพันธุ์ลำดับที่ 8

กองทัพสหรัฐว้าอ้างอิงข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่ว่า ว้าเป็นชาติพันธุ์ที่เข้ามาตั้งรกรากในภาคตะวันออกของแม่น้ำสาละวินก่อนชาติพันธุ์อื่น บริเวณนี้จึงควรเป็นรัฐชาติพันธุ์ว้า ซึ่งนอกจาก 2 พื้นที่เดิมที่ว้ามีอยู่แล้ว ยังรวมเอาจังหวัดเชียงตุง เมืองลา และท่าขี้เหล็กเข้าไปด้วย

ระหว่างวันที่ 23 เมษายน-23 พฤษภาคมที่ผ่านมา กองทัพพม่าได้สร้างความกังขาและไม่สบายใจแก่ผู้ที่อาศัยอยู่ในท่าขี้เหล็กและเชียงตุง โดยฝ่ายปกครองจังหวัดเมืองสาต ได้ออกบัตรประชาชนให้ชาวว้า 5,912 คน โดยไม่ได้ระบุเงื่อนไข

ชาวว้าที่ได้รับบัตรประชาชนรอบนี้ อพยพลงมาจากเมืองป๋างซางมาตั้งแต่เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน 2,572 หลัง ในพื้นที่เมืองยอน เมืองโต๋น โหป่าง ห้วยอ้อ เมืองจ๊อด จังหวัดเมืองสาต


กำลังโหลดความคิดเห็น