เอเอฟพี - รัฐบาลเงาในพม่าเรียกร้องให้ชนกลุ่มน้อยโรฮิงญาช่วยโค่นล้มรัฐบาลทหาร โดยให้คำมั่นเรื่องสัญชาติและการส่งกลับประเทศสำหรับชุมชนชาวมุสลิมในพม่าที่เป็นประชาธิปไตยในอนาคต
พม่าตกอยู่ในความสับสนวุ่นวายนับตั้งแต่ทหารโค่นอำนาจอองซานซูจีและรัฐบาลพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของเธอในการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ.
การปราบปรามอย่างรุนแรงต่อผู้เห็นต่างของรัฐบาลทหารหลังจากนั้นได้สังหารผู้คนไปมากกว่า 800 คน ตามการระบุของกลุ่มตรวจสอบท้องถิ่น
ในเวลาต่อมา กลุ่มของสมาชิกสภานิติบัญญัติที่ถูกขับไล่ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากพรรค NLD ได้ตั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติขึ้นในความพยายามที่จะนำผู้ต่อต้านการรัฐประหารมารวมตัวกัน
ฝ่ายรัฐบาลทหารได้กำหนดให้รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเป็นผู้ก่อการร้าย ซึ่งหมายความว่าใครก็ตามที่พูดคุยติดต่อกับพวกเขา รวมทั้งนักข่าว อาจถูกตั้งข้อหาภายใต้กฎหมายต่อต้านการก่อการร้าย
“เราขอเชิญชาวโรฮิงญาร่วมมือกันกับเราและคนอื่นๆ เพื่อเข้าร่วมในการปฏิวัติฤดูใบไม้ผลิต่อต้านเผด็จการทหาร” กลุ่มระบุในคำแถลง
รัฐบาลพรรค NLD ของซูจีเคยหลีกเลี่ยงการใช้คำจำกัดความว่า ‘โรฮิงญา’ เพราะเป็นประเด็นอ่อนไหวในหมู่กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ โดยอ้างถึงชนกลุ่มน้อยกลุ่มนี้ว่า ‘ชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในรัฐยะไข่’
ในพม่า โรฮิงญาถูกมองอย่างกว้างขวางว่าเป็นผู้ลักลอบเข้าเมืองจากบังกลาเทศและถูกปฏิเสธสถานะพลเมือง สิทธิ และการเข้าถึงบริการต่างๆ มานานหลายทศวรรษ ภายใต้สิ่งที่องค์การนิรโทษกรรมสากลเรียกว่าการแบ่งแยกสีผิว
รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติยังให้คำสัญญาว่าจะยุติกฎหมายสัญชาติปี 2525 ที่เลือกปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญา และสัญญาว่าทุกคนที่เกิดในพม่าจะได้รับสัญชาติ นอกจากนี้ ยังกล่าวว่าพวกเขามีความมุ่งมั่นที่จะส่งชาวโรฮิงญาทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในค่ายพักในบังกลาเทศกลับประเทศทันทีที่การส่งกลับสามารถดำเนินการได้ ด้วยความสมัครใจ ปลอดภัย และมีศักดิ์ศรี
ชาวโรฮิงญามากกว่า 740,000 คน หลบหนีข้ามพรมแดนไปยังบังกลาเทศหลังทหารดำเนินการปราบปรามในปี 2560 ที่สหประชาชาติประณามว่าเป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์
ทหารอ้างว่าปฏิบัติการของพวกเขามีความชอบธรรมเพื่อกำจัดผู้ก่อความไม่สงบชาวโรฮิงญาหลังเกิดเหตุโจมตีรุนแรงหลายครั้งกับด่านตำรวจ และปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาว่ามีการกระทำผิด
ซูจีได้ปกป้องการดำเนินการของกองทัพ และกระทั่งเดินทางไปยังกรุงเฮกเพื่อโต้แย้งข้อกล่าวหาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ศาลสูงสุดของสหประชาชาติ
ปัจจุบันยังมีชาวโรฮิงญามากกว่า 600,000 คน อาศัยอยู่ในรัฐยะไข่โดยไม่มีสัญชาติ และถูกจำกัดให้อยู่แต่ในค่ายหรือหมู่บ้านของพวกเขา ที่หลายคนไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้.