xs
xsm
sm
md
lg

กองทัพพม่าดับ 1 หลังปะทะ “ไตแดง” ในสะกาย ทหารมินอ่องหล่ายเริ่มเผชิญศึกหลายด้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ทหารกองทัพชนชาติไตแดง (ภาพจาก Shanni Nationalities Army)
MGR Online - กองทัพพม่าของมินอ่องหล่าย เริ่มเผชิญศึกหลายหน้าขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในรัฐคะฉิ่น รัฐกะเหรี่ยง รัฐชาน ล่าสุดเปิดศึกปะทะกับกองทัพไตแดงในภาคสะกาย สูญเสียทหารไปแล้ว 1 นาย บาดเจ็บอีก 7

เวลาประมาณ 14.00 น. วันที่ 14 เมษายนที่ผ่านมา ได้เกิดการสู้รบกันอย่างรุนแรง ระหว่างทหารพม่า หน่วยขะละยะ 309 กับทหารของกองทัพชนชาติไตแดง (Shanni Nationalities Army : SNA) ที่บริเวณบ้านเจดีย์สิบ อำเภอห่มหมากลาง (ห่ม-หมาก-ลาง) ภาคสะกาย ส่งผลให้ทหารพม่าเสียชีวิต 1 นาย ได้รับบาดเจ็บอีก 7 นาย 1 ในนี้เป็นระดับนายทหารที่ได้รับบาดเจ็บสาหัส ส่วนทหารไตแดงไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต

อำเภอห่มหมากลางและคำตี่ ถิ่นที่อยู่ของชาวไตแดงในภาคสะกาย
พ.อ.จายทุน โฆษกกองทัพไตแดง ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว The Voice of Shan-Ni ว่า ทหารพม่าจงใจเคลื่อนกำลังเข้ามาในพื้นที่ในความรับผิดชอบของทหารไตแดง โดยไม่แจ้งล่วงหน้า ซึ่งถือเป็นการคุกคาม จึงทำให้สองฝ่ายต้องปะทะกัน โดยหลังจากทหารพม่าถอนกำลังออกไปแล้ว ได้ใช้อาวุธจี้บังคับให้ชาวบ้านห่มหมากลางให้ขับรถพาคนเจ็บไปส่งยังค่ายทหารของพวกเขาอีกด้วย

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 1 เมษายน มีตำรวจพม่าขับรถรุกเข้ามาในพื้นที่บ้านนันต่า อำเภอห่มหมากลาง และได้เกิดยิงปะทะกับทหารกองทัพไตแดง ส่งผลให้ตำรวจพม่าเสียชีวิต 1 นาย และได้รับบาดเจ็บอีก 2 นาย

ไตแดงเป็นกลุ่มคนชาติพันธุ์ไตกลุ่มเดียวกับชาวไตคำตี่ ซึ่งได้โยกย้ายจากถิ่นที่อยู่เดิมที่ปัจจุบันอยู่ในมณฑลยูนนานของจีน มาทางตะวันตก ผ่านทางรัฐคะฉิ่นและภาคสะกาย ของพม่า ก่อนข้ามเทือกเขาปาดไก่ เพื่อไปตั้งรกรากทำมาหากินอยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำโลหิต อันเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำพรหมบุตร ในฝั่งอินเดีย เมื่อประมาณ 300 ปีก่อน โดยดินแดนซึ่งเป็นที่อาศัยของชาวไตคำตี่ ปัจจุบันคือ รัฐอรุณาจัลประเทศ ของอินเดีย

จากการเดินทางโยกย้ายถิ่นฐานในครั้งนั้น มีชาวไตที่ได้แตกกลุ่มออกมาตั้งรกราก เป็นชุมชนไตแดงหลายแห่งตามรายทาง ในรัฐคะฉิ่นและภาคสะกาย โดยในภาคสะกาย ชาวไตแดงอาศัยอยู่มากในอำเภอคำตี่ และอำเภอห่มหมากลาง ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำชินวิน โดย 2 อำเภอนี้ มีชาวไตแดงอยู่ประมาณ 1.6 แสนคน

ชาวไตแดงมีภาษา วัฒนธรรม ประเพณี เหมือนกับชาวไตกลุ่มอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ ทั้งชาวไตคำตี่ ในรัฐอรุณาจัลประเทศ ชาวไตอาหม ในรัฐอัสสัม ของอินเดีย ชาวไทใหญ่ในรัฐชาน และชาวไตมาว ในมณฑลยูนนานของจีน ชื่ออำเภอห่มหมากลางก็เป็นภาษาไต แปลว่าร่มต้นขนุน (หมากลาง = ขนุน) แต่ชาวพม่าอ่านออกเสียงว่าโห่มะลิน


สำหรับกองทัพชนชาติไตแดง เป็นกองกำลังติดอาวุธที่เพิ่งตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมกราคม 2559 ในช่วงที่ชาติพันธุ์หลายกลุ่มในพม่าตื่นตัวเรียกร้องขอมีพื้นที่ปกครองตนเอง โดยกองทัพไตแดงมีวัตถุประสงค์เพื่อดูแลและป้องกันผลประโยชน์ของชาวไตแดงซึ่งมีอยู่ประมาณ 300,000 คนในภาคสะกายและรัฐคะฉิ่น เป็นกองกำลังอิสระที่ยังไม่ได้เซ็นสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) กับรัฐบาลพม่า และไม่ได้เข้าไปร่วมในกลุ่ม FPNCC (Myanmar Peace Commission and Federal Political Negotiation Consultative Committee) ที่มีกองทัพสหรัฐว้า (UWSA) เป็นแกนนำ

อย่างไรก็ตาม นับแต่เริ่มสถาปนากองทัพขึ้นอย่างเป็นทางการ กองทัพไตแดงและกองทัพพม่ามักมีการปะทะกันเป็นระยะ

การสู้รบที่เพิ่งเกิดขึ้นระหว่างกองทัพไตแดงกับกองทัพพม่าเมื่อวันที่ 14 เมษายน ถือเป็นอีกหน้าศึกหนึ่งที่กองทัพพม่าเพิ่งเปิดเพิ่มขึ้นมา จากปัจจุบันที่ทหารของ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย กำลังสู้รบอย่างรุนแรงกับกองทัพเอกราชคะฉิ่น (KIA) ในรัฐคะฉิ่น กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) ในรัฐกะเหรี่ยง และพันธมิตรภาคเหนือ ซึ่งประกอบด้วยกองทัพตะอั้ง (TNLA) กองทัพโกก้าง (MNDAA) กับกองทัพอาระกัน (AA) ในภาคเหนือของรัฐชาน.






กำลังโหลดความคิดเห็น