รอยเตอร์ - การทำรัฐประหารของพม่าและการคว่ำบาตรทางการค้าโดยรัฐบาลและธุรกิจของต่างชาติอาจเพิ่มความเสี่ยงให้แก่การตัดไม้ทำลายป่าในประเทศเอเชียแห่งนี้ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะหันไปหานักลงทุนที่ขาดมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกล่าวเตือน
กองทัพพม่าเข้าโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของอองซานซูจีในเดือน ก.พ. ที่เป็นการยุติการเปลี่ยนแปลงสู่ประชาธิปไตยที่เริ่มมาได้เพียง 1 ทศวรรษ ในขณะที่บริษัทต่างชาติกำลังทยอยเข้าตลาดพม่าหลังมาตรการคว่ำบาตรถูกยกเลิกไปก่อนหน้านี้
แต่นับตั้งแต่กองทัพก่อรัฐประหาร สหรัฐฯ อังกฤษ แคนาดา และสหภาพยุโรปได้กำหนดมาตรการคว่ำบาตรครั้งใหม่กับนายพลพม่า บางบริษัทยังประกาศตัดสัมพันธ์เมื่อนักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนและผู้บริโภคเรียกร้องให้ดำเนินการตอบโต้การรัฐประหารอย่างแข็งกร้าว เช่น บริษัทคิริน โฮลดิ้ง ผู้ผลิตเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่ม ก็ประกาศตัดความเชื่อมโยงกับกลุ่มบริษัทที่ทหารเป็นเจ้าของในพม่า
โทมัส เอนเทอร์ส ที่ปรึกษาด้านป่าไม้ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่เคยทำงานในพม่าให้แก่สหประชาชาติ กล่าวว่า ผลประโยชน์ทางธุรกิจของตะวันตกมีแนวโน้มว่าจะถูกแทนที่โดยผู้สนับสนุนในภูมิภาค ดังที่เห็นในที่อื่นๆ เช่น กัมพูชา
“ประเทศอื่นๆ จะเข้ามาเติมช่องว่างเหล่านั้น” เอนเทอร์ส กล่าวกับรอยเตอร์ โดยระบุชื่อ จีน อินเดีย ไทย เวียดนาม และมาเลเซีย ว่าเป็นผู้ซื้อหรือนักลงทุนที่มีศักยภาพในสินค้าเช่น น้ำมันปาล์ม และไม้ในพม่า
“ความสนใจของพวกเขาในเรื่องผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจ ในสิทธิมนุษยชนมีน้อยมาก ความวิตกกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อมในโครงการการลงทุนขนาดใหญ่จะลดลงอย่างแน่นอน” เอนเทอร์ส กล่าว
ราว 70% ของประชากรพม่าอาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท และพึ่งพาผืนป่าของประเทศที่มีอยู่ราว 181 ล้านไร่ เพื่อจัดหาความต้องการและบริการขั้นพื้นฐานของพวกเขา
ป่าไม้ของพม่าเป็นหนึ่งในแหล่งทรัพยากรธรรมชาติมีค่ามากที่สุด แต่ถูกปล้นไปจากการตัดไม้ที่เป็นทุนให้แก่รัฐบาลทหารในอดีต ที่ปกครองประเทศมานานถึง 49 ปี ก่อนเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยที่เริ่มต้นขึ้นในปี 2554
ประเทศที่ยากจนข้นแค้นแห่งนี้เป็นประเทศที่มีอัตราการตัดไม้ทำลายป่าสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ตามการระบุขององค์การอาหารและการเกษตรสหประชาชาติ อันเนื่องมาจากการขยายตัวทางการเกษตร โครงการโครงสร้างพื้นฐานและโครงการพลังงาน การทำเหมือง และการตัดไม้
ส่วนปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่า ยังรวมถึงความหย่อนยานในการการบังคับใช้กฎหมาย การปกครองและสถาบันที่อ่อนแอ การทุจริตคอร์รัปชัน การก่ออาชญากรรม ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ และสิทธิที่ดินที่มีอย่างจำกัด ผู้เชี่ยวชาญป่าไม้ระบุ
ป่าไม้ตามธรรมชาติที่เหลืออยู่ส่วนใหญ่ในพม่าตั้งอยู่ใกล้พรมแดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรมแดนติดกับไทยและจีน
หากการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากต่างประเทศรุนแรงขึ้น พวกเขาอาจผลักดันทหารอนุญาตให้ดำเนินกิจกรรมการตัดไม้เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่รัฐบาล เช่นที่เคยเกิดขึ้นหลังสหรัฐฯ กำหนดมาตรการห้ามนำเข้าสินค้าจากพม่าในช่วงต้นทศวรรษ 2000 นักสิ่งแวดล้อมกล่าว
เควิน วู้ดส์ นักวิเคราะห์นโยบายอาวุโสขององค์กร Forest Trends ในสหรัฐฯ เผยว่า มีความวิตกอย่างยิ่งว่าแรงผลักดันใหม่ในการตัดไม้ทำลายป่าอาจปรากฏขึ้น ขณะที่กลไกการตรวรจสอบ กำกับดูแลและการบริหารจัดการอาจหายไป
“ในอดีต ป่าไม้ในพม่าได้รับการจัดการดูแลเลวร้ายมากภายใต้รัฐบาลทหารพม่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการปกครองทศวรรษสุดท้ายของพวกเขา” วู้ดส์กล่าว เละสำทับว่าความขัดแย้งชาติพันธุ์ที่เพิ่มขึ้นอาจขัดขวางการปกป้องคุ้มครองป่า
แต่เอนเทอร์ส กล่าวว่า ความเสี่ยงที่การตัดไม้ทำลายป่าจะเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางก็อาจมีจำกัด เนื่องจากป่าไม้ของพม่าสูญหายไปเป็นจำนวนมากแล้ว ขณะเดียวกัน มาตรการคว่ำบาตรการค้าใหม่ใดๆ จากชาติตะวันตกก็มีอิทธิพลน้อยกว่าที่เคยเป็น
เวียดนาม อินเดีย และจีน ถือเป็นลูกค้าหลักสำหรับสินค้าพม่า ขณะที่มาเลเซียและไทยกำลังมองหาการลงทุนในสวนปาล์มน้ำมัน
ปีที่ผ่านมา พม่าได้ลงนามข้อตกลงหลายสิบฉบับกับจีนเพื่อเร่งโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของปักกิ่งเพื่อกระตุ้นการค้าโลก
ในปี 2559 พม่าได้ออกมาตรการห้ามตัดไม้เพื่อชะลอการตัดไม้ทำลายป่า แต่การตัดไม้ผิดกฎหมายยังคงขยายตัวอย่างรวดเร็วในพื้นที่ชายแดนหลายพื้นที่ นอกจากนี้ พม่ายังเข้าร่วมโครงการเรดด์พลัส (REDD+) ของสหประชาชาติ โครงการที่จ่ายเงินเป็นค่าตอบแทนให้แก่ประเทศต่างๆ ที่ประสบความสำเร็จในการอนุรักษ์ป่าไม้ แต่โมเมนตัมเริ่มชะลอตัวลงในช่วงไม่กี่ปีมามานี้ หลังจากประเทศให้ความสำคัญกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการค้า ตามการระบุของกลุ่มสิ่งแวดล้อม
การห้ามค้าไม้ระหว่างประเทศกับพม่าในเวลานี้มีแนวโน้มที่จะผลักดันอุตสาหกรรมลงใต้ดิน ขณะที่การคว่ำบาตรแบบครอบคลุมอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนพม่า นักสิ่งแวดล้อมกล่าว
พวกเขาเรียกร้องให้กองทัพอนุญาตให้กลุ่มประชาสังคมดำเนินการตรวจสอบและปกป้องป่าไม้และชุมชนพื้นเมือง
กองทัพอาจพยายามขายไม้สักจำนวนมากในคลังที่ถูกลักลอบตัดอย่างผิดกฎหมายซึ่งทางการยึดไว้ก่อนหน้านี้ เฟธ โดเฮอร์ตี้ หัวหน้าทีมป่าไม้ขององค์กรตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อม ที่มีสำนักงานในกรุงลอนดอน ระบุ
“ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. เมื่อกองทัพเข้ายึดอำนาจ ใครก็ตามที่ทำธุรกิจในภาคส่วนไม้กำลังจะทำให้รัฐบาลทหารร่ำรวยขึ้น ผมจะพูดว่าอย่าซื้อไปจนกว่าทหารจะออกไปจากการควบคุมทรัพยากรธรรมชาติในพม่า” โดเฮอร์ตี้ กล่าว และเรียกร้องให้ประเทศผู้ซื้อไม้กำหนดกฎระเบียบการนำเข้าให้เข้มงวดยิ่งขึ้น.