MGR Online - นครเวียงจันทน์สั่งล็อกดาวน์ห้ามคนเข้าออกเมืองหลวงช่วงสงกรานต์ หลังเกิดกรณีคนไทยที่ป่วยโควิด-19 แอบลักลอบข้ามโขงเข้าไปยังลาว และแพร่เชื้อต่อให้คนไทยที่เปิดร้านเกมอยู่ในเวียงจันทน์ สร้างความหวั่นวิตกไปทั่วว่าจะกลายเป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์
หลังกระทรวงสาธารณสุขลาวตรวจพบผู้ป่วยโควิด-19 ลำดับที่ 50 ซึ่งเป็นนักธุรกิจชาวไทยที่เปิดร้านเกมและอินเทอร์เน็ตคาเฟ่อยู่ในนครหลวงเวียงจันทน์ เมื่อวันที่ 11 เมษายนที่ผ่านมา และได้สร้างความแตกตื่น วิตกกังวลต่อชาวเวียงจันทน์เป็นวงกว้างว่าอาจกลายเป็น Super Spreader นั้น
เช้าวันนี้ (13 เม.ย.) สำนักบริหารนครหลวงเวียงจันทน์ โดยพูวง วงคำซาว รองเจ้าครองนครหลวงเวียงจันทน์ ได้ลงนามในหนังสือ (แทนเจ้าครองนครหลวงเวียงจันทน์) เรื่อง “ขอปิดการเดินทางท่องเที่ยว เข้าออก (Lock down) นครหลวงเวียงจันทน์ ตั้งแต่วันที่ 13-30 เมษายน 2564”
โดยหนังสือเลขที่ 009/จนว ลงวันที่ 13 เมษายน 2564 เสนอถึงรัฐมนตรี และหัวหน้าสำนักงานนายกรัฐมนตรี ระบุรายละเอียดว่า
1.ภายหลังตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2564 จากนายนาวา ทุ่งไช นักธุรกิจชาวไทย ซึ่งได้เดินทางไปมาอยู่หลายแห่งในพื้นที่นครหลวงเวียงจันทน์ คณะเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขโควิด-19 นครหลวงเวียงจันทน์ได้สั่งปิดร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ทุกแห่งที่อยู่ในเมืองจันทะบูลี ทันทีในวันเดียวกันนั้น และขยายเป็นการสั่งปิดร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ทุกแห่งทั่วนครหลวงเวียงจันทน์ในวันต่อมา
ส่วนผู้ป่วยได้ส่งตัวไปรักษาอาการอยู่ในโรงพยาบาลมิตรภาพ 150 เตียง ขณะที่แฟนสาว และพนักงานในร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ของผู้ป่วยอีก 6 คน ได้ถูกนำไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 ซึ่งผลตรวจออกมาแล้วเป็นลบ ปัจจุบันได้นำไปกักตัวไว้ยังศูนย์กักตัว กิโลเมตรที่ 27
ส่วนผู้ที่ได้ใกล้ชิดกับแฟนสาวของผู้ป่วยและพนักงานร้านอินเตอร์เน็ตคาเฟ่ ได้ถูกสั่งให้กักตัวเองไว้กับบ้าน และมอบหมายให้กองหลอน (ตำรวจบ้าน) เจ้าหน้าที่ป้องกันความสงบบ้าน คอยป้องกันไม่ให้ออกจากบ้าน และกันไม่ให้มีใครเข้าไปในบ้านของพวกเขาเหล่านั้น
2.สำหรับบทแถลงของท่านรองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าคณะเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขโควิด-19 ระดับศูนย์กลาง และคำสั่งแนะนำเพิ่มเติมของคณะเฉพาะกิจฯ ฉบับเลขที่ 3443/สพก ลงวันที่ 12 เมษายน 2564 นั้น คณะเฉพาะกิจฯ นครหลวงเวียงจันทน์ ได้จัดประชุมและขยายผลออกมาเป็นคำสั่งด่วน และได้มอบหมายให้ทุกเมือง ทุกหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องดำเนินการสั่งห้าม สั่งปิด สั่งงดกิจกรรมต่างๆ โดยทันที ตามความรับผิดชอบของตน
3.เนื่องจากผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นการตรวจพบในชุมชนนครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งความเคลื่อนไหวของผู้ติดเชื้อมีขอบเขตกว้างขวางในหลายแห่ง หลายสถานที่ และช่วงนี้ มวลชนชาวนครหลวงเวียงจันทน์อยู่ระหว่างเตรียมฉลองวันบุญปีใหม่ลาว (สงกรานต์) คาดว่าจะมีผู้เดินทางออกไปยังทุกแขวงทั่วประเทศ และจะมีนักท่องเที่ยวภายในจากทั่วประเทศเข้ามาเที่ยวในนครหลวงเวียงจันทน์
ฉะนั้น นครหลวงเวียงจันทน์จึงขออนุมัติปิดการเดินทางท่องเที่ยว เข้าออก (Lock down) นครหลวงเวียงจันทน์ ตั้งแต่วันที่ 13-30 เมษายน 2564 ไว้ก่อน ยกเว้นการขนส่งสินค้า คนเจ็บ คนเกิดอุบัติเหตุ เพื่อให้เป็นมาตรการสูงสุด ไม่ให้มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จากนครหลวงเวียงจันทน์ออกไปยังแขวงอื่น
สำหรับมาตรการสั่งห้าม สั่งปิด สั่งงดอื่นๆ ตามคำสั่งของคณะเฉพาะกิจฯ ขั้นศูนย์กลาง และนครหลวงเวียงจันทน์ จะยังคงถูกปฏิบัติอย่างเข้มงวดต่อไป
กรณีผู้ป่วยโควิด-19 ลำดับที่ 50 ของลาวนั้น ได้ถูกเปิดเผยขึ้นในการแถลงข่าวของ ดร.พอนปะดิด สังไซยะลาด หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์และระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุขลาว เมื่อวันที่ 11 เมษายน ซึ่งไทม์ไลน์ที่ถูกเปิดเผยในการแถลงข่าว ระบุเพียงว่าเป็นคนไทย อาชีพนักธุรกิจ และไม่เคยเดินทางออกจากลาวตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว ติดเชื้อโดยการสัมผัสกับคนไทยที่เข้าไปในประเทศลาวโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
ต่อมา สื่อออนไลน์หลายแห่งของลาวได้ตื่นตัว ไปสืบหาไทม์ไลน์โดยละเอียดของผู้ป่วยรายนี้ และได้นำมาเปิดเผยภายหลัง โดยระบุว่าผู้ป่วยซึ่งเป็นชายชาวไทย อายุ 41 เป็นเจ้าของร้านเกม และอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ อยู่บ้านโพนต้อง เมืองจันทะบูลี นครหลวงเวียงจันทน์
ผู้ป่วยรายนี้สุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว แต่ติดอยู่ในลาวตั้งแต่โควิดเริ่มระบาดรอบแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว (2563) และไม่ได้เดินทางกลับประเทศไทยอีกเลย
เมื่อวันที่ 3 เมษายน ผู้ป่วยได้เดินทางไปยังเมืองหาดซายฟอง และได้พบกับคนไทย 3 คน ที่ลักลอบนั่งเรือข้ามแม่น้ำโขงจากจังหวัดหนองคายมายังฝั่งลาว ที่บริเวณใกล้กับสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ซึ่งเมื่อสอบถาม ทราบว่าคนไทยทั้ง 3 พักอยู่ในกรุงเทพฯ แถวถนนสุขุมวิท โดย 1 ใน 3 คนนั้นพูดลาวได้ คาดว่าจะเป็นคนอีสาน
เมื่อผู้ป่วยเห็นว่าเป็นคนไทยเหมือนกัน จึงได้ซื้อเบียร์มานั่งดื่มกินด้วยกันบริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขง โดยไม่ได้เข้าไปนั่งดื่มในร้าน ใช้เวลานั่งดื่มกันประมาณ 30-40 นาที ค่อยแยกย้ายจากกัน โดยไม่ทราบว่าทั้ง 3 คนนั้นเดินทางต่อไปที่ไหน
วันที่ 6-7 เมษายน ผู้ป่วยพักอยู่ชั้น 2 ของร้านอินเทอร์เน็ต ไม่ได้ลงมาพบปะกับผู้ใด โดยในร้านมีพนักงานประมาณ 5 คน ต่อมาวันที่ 8 เมษายน เริ่มมีไข้ ปวดเมื่อยเนื้อตัว ไอและเจ็บคอ
วันที่ 9 เมษายน ได้ออกไปเยี่ยมบ้านแฟนสาว พบปะกับผู้คนประมาณ 5 คน แต่ผู้ป่วยยืนยันว่าในวันนั้นได้สวมแมสก์อยู่ตลอดเวลา
วันที่ 10 เมษายนได้มา Admit เพื่อตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่โรงพยาบาลมิตรภาพ 150 เตียง ผลตรวจออกมาเป็นบวก
กระทรวงสาธารณสุขลาว ได้ติดตามบุคคลที่เคยสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยรายนี้ จำนวน 10 คน และเก็บตัวอย่างส่งตรวจยังห้องแล็บ
หลังมีผลยืนยันออกมาว่าผู้ป่วยรายนี้ติดโควิด-19 ได้สร้างความตื่นตระหนกแก่ชาวเวียงจันทน์อย่างแพร่หลาย เพราะร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ เป็นแหล่งรวมของเด็ก เยาวชน และวัยรุ่นในเวียงจันทน์ ทำให้เกรงกันว่าอาจมีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ออกไปได้อีกเป็นวงกว้าง
มีการสั่งปิดร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ทุกแห่งในเมืองจันทะบูลี และทั่วนครหลวงเวียงจันทน์ ตามมาด้วยคำสั่งปิดสถานบันเทิงทุกแห่งในช่วงเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ลาว
พื้นที่ซึ่งมีชายแดนติดกับประเทศไทย ถูกสั่งให้เข้มงวดป้องกันคนลักลอบข้ามแดน และที่เมืองแก่นท้าว แขวงไซยะบูลี ได้สั่งปิดสะพานมิตรภาพข้ามแม่น้ำเหือง ที่เชื่อมกับจังหวัดเลย ห้ามรถสินค้าและขนส่งน้ำมันข้ามโดยเด็ดขาด บังคับให้รถขนส่งสินค้าและน้ำมันจากไทย เปลี่ยนไปเข้าออกทางด่านพูดู่ จังหวัดอุตรดิตถ์แแทน