MGR Online - เลือกตั้งในพม่าเริ่มเดือด ส.ส. NLD ที่เพิ่งได้รับเลือกตั้งมาหมาดๆ ถูกยิงดับคาบ้านในเมืองจ๊อกแม รัฐฉาน หลังก่อนหน้าไม่กี่วัน มือปืนนิรนามยิงปืนใส่บ้านประธาน กกต.ในพื้นที่เดียวกัน
วานนี้ (21 พ.ย.) เวลาประมาณ 18.45 น. ขณะที่ นายอู ไทก์ส่อ กำลังพักผ่อนอยู่กับบ้าน ในหมู่บ้านป่างตึ๋ง ตำบลหนองปิ๋งโหลง อำเภอจ๊อกแม จังหวัดจ๊อกแม ภาคเหนือของรัฐฉาน มีมือปืนซึ่งยังไม่ทราบว่าเป็นกลุ่มใดบุกเข้ามาประชิดตัว และจ่อยิงอู ไทก์ส่อ เข้าที่หน้าอก 2 นัด
ผู้เห็นเหตุการณ์ได้รีบนำตัว นายอู ไทก์ส่อ ส่งยังโรงพยาบาลประจำจังหวัดจ๊อกแม แต่ก็ได้เสียชีวิตที่โรงพยาบาลในอีก 1 ชั่วโมงถัดมา
เจ้าหน้าที่ตำรวจจ๊อกแม กำลังอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนอย่างเคร่งเครียด เพื่อหาสาเหตุ และผู้ก่อเหตุฆาตกรรมครั้งนี้ว่าเป็นฝีมือของกลุ่มใด
นายอู ไทก์ส่อ เพิ่งชนะในการเลือกตั้งทั่วไปที่จัดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน ได้เป็นสมาชิกสภาเชื้อชาติ (Amyotha Hluttaw) หรือสภาสูง ประจำเขตเลือกตั้งที่ 1 รัฐฉาน สังกัดพรรคพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy : NLD) ของอองซาน ซูจี โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งพม่า (UEC) ได้ให้การรับรองแล้วเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ตามประกาศ UEC ฉบับที่ 245/2020
ก่อนหน้านี้ ในกลางดึกของวันที่ 14 พฤศจิกายน ได้มีมือปืนนิรนามยิงปืนใส่บ้านของ นายอู โจทุน ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดจ๊อกแม โดยทีแรกเมื่อมีเสียงปืนดัง อู โจทุน คิดว่าเป็นเพียงเสียงระเบิดจากไฟฟ้าช็อต จึงไม่เอะใจ แต่ตอนเช้ากลับพบรอยกระสุนบนผนัง และมีปลอกกระสุนตกอยู่ในบริเวณบ้าน 2 นัด จึงรู้ที่มาของเสียงที่ดังในตอนกลางคืนว่า มีคนยิงปืนใส่ตัวบ้าน จึงได้รีบไปแจ้งความ
จนถึงขณะนี้ ตำรวจจ๊อกแมยังสืบสวนไม่พบว่าเป็นฝีมือของผู้ใด
จังหวัดจ๊อกแม มีพื้นที่ติดกับเมืองปินอูลวิน ภาคมัณฑะเลย์ และเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวของกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์หลายกลุ่ม
เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม คณะกรรมการการเลือกตั้งพม่าได้มีประกาศฉบับที่ 197/2020 ให้ยกเลิกหน่วยเลือกตั้งที่ประจำอยู่ใน 12 หมู่บ้าน ของอำเภอจ๊อกแม โดยให้เหตุผลว่าเป็นพื้นที่ซึ่งยังมีการสู้รบกันอยู่ ทำให้ไม่ปลอดภัยหากจัดให้มีการเลือกตั้ง
ก่อนหน้านั้น ในวันที่ 3 ตุลาคม ทหารพม่าได้นำกำลังเข้าโจมตีฐานที่มั่นของทหารสภากอบกู้รัฐฉาน (RCSS/SSA) ที่ประจำอยู่ในตำบลปุ่งโว อำเภอจ๊อกแม ต่อมา การสู้รบขยายวงกว้างออกไปยังตำบลอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียง มีการใช้อาวุธหนัก และนำเฮลิคอปเตอร์ขึ้นบินสาดกระสุนใส่ฐานที่มั่นตามจุดต่างๆ
ประชาชนกว่า 3,500 คน จาก 18 หมู่บ้าน ที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงกับจุดสู้รบ ต้องพากันอพยพไปหลบอยู่ตามวัดต่างๆ 4-5 แห่ง ความเป็นอยู่ของผู้อพยพในทุกวัด ล้วนยากลำบาก ขาดแคลนทั้งน้ำ อาหาร เสื้อผ้า เครื่องนอน และอุปกรณ์ป้องกันโควิด-19
การสู้รบดำเนินต่อเนื่องมากกว่า 10 วัน เสียงปืนจึงค่อยสงบ ผู้อพยพจึงค่อยกล้าเดินทางกลับบ้าน
สาเหตุของการสู้รบครั้งนี้ เนื่องจากทหารพม่าต้องการผลักดันให้ RCSS ถอนกำลังจากพื้นที่ภาคเหนือของรัฐฉาน ให้ลงไปเคลื่อนไหวได้เฉพาะในภาคใต้ ขณะที่ RCSS ยืนยันไม่เคลื่อนย้าย เพราะในสัญญาหยุดยิง (NCA) ที่เซ็นกับรัฐบาลพม่าเมื่อเดือนตุลาคม 2558 ไม่ได้จำกัดว่า RCSS ต้องเคลื่อนไหวอยู่เฉพาะพื้นทีภาคใต้ และการที่ทหารพม่าเป็นฝ่ายโจมตีก่อน จึงเป็นการละเมิดเงื่อนไขของ NCA.
(ภาพจากเพจ National League for Democracy - Shan State)