xs
xsm
sm
md
lg

เหมืองทองพม่าพ่นพิษ! คนท่าขี้เหล็กเริ่มอพยพหนี ชี้ร้องทั้งรัฐบาลทหาร-อองซานฯ เรื่องเงียบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพประกอบจากเว็บไซต์สำนักข่าว Shan News เป็นสภาพน้ำท่วมบ้านนาไฮโหลง เมื่อฤดูฝนที่ผ่านมา
ท่าขี้เหล็ก - อุตสาหกรรมเหมืองทองแหล่งใหญ่ในรัฐฉาน พม่า พ่นพิษ..ทั้งทำเส้นทางน้ำเปลี่ยน-กระทบสิ่งแวดล้อม ร้องรัฐบาลทหาร-อองซานซูจี เรื่องเงียบ-มนตรีกระทรวงเหมืองแร่ฯ สั่งปิดยังถูกตีกลับ จนชาวบ้านเริ่มอพยพหนี

ภาพประกอบจากเว็บไซต์สำนักข่าว Shan News เป็นสภาพน้ำท่วมบ้านนาไฮโหลง เมื่อฤดูฝนที่ผ่านมา
ชาวบ้านนาไฮโหลง เมืองท่าเดื่อ จังหวัดท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน ทนความเดือดร้อนที่ได้รับมาอย่างยืดเยื้อจากการทำเหมืองทองคำในพื้นที่ไม่ไหว ล่าสุดมีชาวบ้านที่จำใจขนข้าวของอพยพออกมาหาที่อยู่ใหม่กันแล้วหลายราย

สำนักข่าว Shan News รายงานว่าตัวเลขล่าสุดมีชาวบ้านกว่า 20 คน จากบ้าน 8 หลัง จำต้องออกมาหาที่อยู่ใหม่บริเวณรอบนอกหมู่บ้าน เนื่องจากเหมืองทองคำได้ไปเปลี่ยนเส้นทางน้ำ ทำให้เมื่อถึงฤดูฝนน้ำจากลำน้ำของหมู่บ้านได้เอ่อขึ้นมาท่วมถึงบนเรือนชานจนไม่สามารถอาศัยหลับนอนได้

บริเวณดอยคำ ริมบ้านนาไฮโหลง ถือเป็นแหล่งทองคำขนาดใหญ่ ซึ่งรัฐบาลกลางพม่าได้ให้สัมปทานแก่หลายบริษัทได้เข้าไปทำเหมืองบนดอยแห่งนี้มาตั้งแต่ปี 2007 แต่เหมืองทองเหล่านี้ได้สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม จนถูกชาวบ้านต่อต้าน และรวมตัวทำหนังสือส่งขึ้นไปถึงรัฐบาลกลางพม่าแล้วหลายครั้ง ตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีเตงเส่ง แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนอง

ชาวบ้านเชื่อว่าบริษัทที่เข้ามาทำเหมืองทองคำบนดอยคำ ล้วนสนิทสนมกับนายทหารระดับสูงในกองทัพพม่า

วันที่ 5 สิงหาคม 2014 จายอ้ายเปา หัวหน้าพรรคเสือเผือก ในฐานะมนตรีกระทรวงเหมืองแร่และป่าไม้ รัฐฉาน เคยมีคำสั่งให้ยุติการทำเหมืองทอง 10 กว่าแห่งบนดอยคำ และให้ชดใช้เงินแก่ชาวบ้าน 90 ครัวเรือน เนื่องจากไร่นาและแหล่งน้ำได้รับความเสียหาย จนไม่สามารถเพาะปลูกได้ในราคาเอเคอร์ละ 670 ดอลลาร์สหรัฐ แต่เมื่อคำสั่งนี้ถูกส่งไปถึงรัฐบาลกลางที่เนปิดอได้ถูกตีกลับ

วันที่ 3 มีนาคม 2016 หลังพรรค NLD ของอองซานซูจี ขึ้นมาเป็นรัฐบาล เครือข่ายชาวนารัฐฉาน (SSFN) และมูลนิธิสิทธิมนุษยชนฉาน (SHRF) ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ เรียกร้องรัฐบาลใหม่ให้ระงับการทำเหมืองทองคำที่บ้านนาไฮโหลง เนื่องจากเชื่อว่ามีการปล่อยสารพิษลงในแหล่งน้ำ ทำให้ที่ดินกว่า 300 เอเคอร์ (800 ไร่) ที่ชาวบ้านเคยใช้ทำมาหากิน ไม่สามารถทำการเกษตรได้อีกต่อไป และที่สำคัญ เหมืองทองเคยมีการกระทบกระทั่งกับชาวบ้าน จนมีชาวบ้านเสียชีวิตไปแล้ว อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้เหมืองทองบนดอยคำเหล่านี้ก็ยังดำเนินการต่อ จนชาวบ้านต้องอพยพหนีออกจากพื้นที่ไปเอง

นอกจากที่บ้านนาไฮโหลง เมืองท่าเดื่อแล้ว ในจังหวัดท่าขี้เหล็กยังมีแหล่งทองคำอยู่ในอีกหลายพื้นที่ เช่น เมืองเลน เมืองพยาก เมืองยุ ซึ่งมีกลุ่มทุนหลายรายเข้ามาทำเหมืองและเกิดการกระทบกระทั่งกับชาวบ้านเป็นระยะ เช่น เมื่อเดือนเมษายน 2017 ชาวบ้านกองมู ตำบลกองมู เมืองพยาก ได้ร้องเรียนไปยังพรรคเสือเผือกว่าได้รับความเดือดร้อนจากเหมืองทองที่อยู่ห่างจากหมู่บ้านขึ้นไปประมาณ 10 ไมล์ เหมืองแห่งนี้ดำเนินการโดยบริษัท อู อาเฉี่ยง จากเมืองท่าเดื่อ โดยหลังจากเริ่มมีการทำเหมือง ชาวบ้านสังเกตเห็นว่าน้ำในลำน้ำโหลง สายน้ำหลักของหมู่บ้านมีคราบสกปรกและมีสิ่งปนเปื้อน จึงต้องการให้ยุติการทำเหมืองทองที่นี่

เดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน ชาวบ้านเมืองยุซึ่งอยู่ห่างจากเมืองยองขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเล็กน้อย ที่ทหารพม่าได้เข้ามายึดที่ดินของชาวบ้านจำนวน 60 เอเคอร์ (ประมาณ 150 ไร่) และนำไปให้บริษัทนี้เข้าทำเหมืองตั้งแต่ปี 2013 โดยร้องเรียนว่าได้รับความเดือดร้อนจากเหมืองทองที่กองทัพพม่าได้ให้สัมปทานกับบริษัทจากจีน

ล่าสุด เมื่อกลางปีที่แล้วชาวบ้านในเมืองพยากรวมตัวกันทำหนังสือถึงประธานาธิบดีวินมิ้นต์ คัดค้านการให้สัมปทานแก่บริษัท Access Asia Mining(AAM) ซึ่งเป็นบริษัทสำรวจและพัฒนาแหล่งแร่ทองคำ จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นในสิงคโปร์ เมื่อเดือนมกราคม 2015 มีผู้บริหารเป็นชาวออสเตรเลีย ที่จะเข้ามาสำรวจแหล่งทองคำครอบคลุมพื้นที่กว้างถึง 145,000 เอเคอร์ (ประมาณ 3.7 แสนไร่) เพราะกลัวว่าจะมีผลกระทบต่อไร่นา แหล่งน้ำ และสภาพแวดล้อมของชุมชนรวม 13 หมู่บ้าน

เดือนกุมภาพันธ์ 2015 AAM เปิดสำนักงานพม่า และได้รับอนุญาตให้สำรวจเพื่อพัฒนาแหล่งทองคำ 4 โครงการ ประกอบด้วย 1. โครงการในเขตสะกาย ครอบคลุมพื้นที่สำรวจ 800 ตารางกิโลเมตร 2. โครงการในภาคตะวันออกของรัฐฉาน ครอบคลุมพื้นที่ 1,500 ตารางกิโลเมตร 3. โครงการในเขตมัณฑะเลย์ ครอบคลุมพื้นที่ 1,300 ตารางกิโลเมตร 4. โครงการในเขตพะโค ครอบคลุมพื้นที่ 2,000 ตารางกิโลเมตร
กำลังโหลดความคิดเห็น