MGR Online - เพียงไม่กี่วันหลัง กกต.พม่าประกาศผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ กองทัพ “ว้า” ก็เริ่มความเคลื่อนไหวอย่างมีนัยสำคัญ ที่จะเป็นตัวแปรต่อกระบวนการสันติภาพภายใต้รัฐบาลเหล้าเก่าในขวดใหม่
หลังจากเช้าวานนี้ (17 พ.ย.) เพจ Wa Nation society lifestyle ได้นำภาพการสวนสนามของทหารกองทัพสหรัฐว้า (United Wa State Army : UWSA) เมื่อวันที่ 15 เมษายนปีที่แล้วขึ้นมาโพสต์ใหม่ พร้อมเขียนชื่นชมบทบาทของกองทัพว้าในการป้องกันความสงบและพัฒนาเศรษฐกิจของว้านั้น
ช่วงบ่ายของวันเดียวกัน ได้ปรากฏความเคลื่อนไหวอย่างมีนัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับ “ว้า” เกิดขึ้นตามมาอีก โดยสื่อออนไลน์ของว้ามีการเผยแพร่สาสน์ที่เปาโหย่วเสียง ประธานเขตพิเศษหมายเลข 2 สหรัฐว้า ส่งไปถึงพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของอองซาน ซูจี เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน
สาสน์มี 2 ภาษา เนื้อหาเป็นการแสดงความยินดีได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงถล่มทลาย จนสามารถกลับมาจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้อีกครั้ง
จากนั้นเพจทางการของกองทัพพม่าได้เผยแพร่ภาพ พล.อ.มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดพม่า ที่เปิดห้องรับรองให้ตัวแทนของกองทัพว้าเข้าพบ โดยนอกจากภาพการหารือกันของ 2 ฝ่ายแล้ว พล.อ.มินอ่องหล่าย ยังได้มอบอุปกรณ์ป้องกันเชื้อโควิด-19 ให้แก่ตัวแทนของกองทัพว้า
เมื่อวานนี้ พล.อ.มินอ่องหล่าย ได้เดินทางมาปฏิบัติภารกิจในรัฐฉาน และได้เดินทางลงมาตรวจเยี่ยมกำลังพลในจังหวัดเมืองสาต (ตรงข้ามกับจังหวัดเชียงใหม่) พร้อมกับคณะของผู้บัญชาการภาคสามเหลี่ยม จากจังหวัดเชียงตุง
ก่อนหน้านี้ เมื่อต้นเดือนกันยายน เพจกองทัพพม่าเคยเผยแพร่ภาพลักษณะเดียวกัน เมื่อครั้ง พล.อ.มินอ่องหล่าย เดินทางมาปฏิบัติภารกิจที่จังหวัดท่าขี้เหล็ก และได้พบปะหารือกับตัวแทนกองทัพว้า พร้อมมอบอุปกรณ์ป้องกันโควิด-19 ให้แก่ตัวแทนเหล่านี้ด้วยเช่นกัน
จังหวัดเมืองสาตเป็น 1 ในพื้นที่ปกครองตนเองของกองทัพสหรัฐว้า ช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายก่อนถึงวันเลือกตั้งทั่วไป (8 พ.ย.) กองทัพว้าที่รับผิดชอบพื้นที่จังหวัดเมืองสาต ได้ออกมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยการห้ามไม่ให้ตัวแทนพรรคการเมืองเดินทางเข้าไปหาเสียงในพื้นที่ สร้างความไม่พอใจแก่ผู้สมัครเลือกตั้งจากหลายพรรคการเมือง โดยเฉพาะจากพรรค NLD พรรคหัวเสือ และพรรคเสือเผือกของไทใหญ่ เพราะสร้างความไม่ชอบธรรมต่อการเลือกตั้ง
ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ ในจังหวัดเมืองสาต ผู้สมัครจากพรรคพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (USDP) ที่เป็นพรรคของทหารพม่าได้รับเลือกตั้งเข้ามาเกือบทั้งจังหวัด ทั้ง 3 สภา คือ Pyithu Hluttaw Amyotha Hluttaw และสภาแห่งรัฐ (State Hluttaw)
มีเพียง ดร.เอ็มส่อลัต ผู้สมัครจากพรรคชนชาติว้า (WNP) เพียงคนเดียว ที่ได้รับเลือกเป็นสมาชิก State Hluttaw จากเขตเลือกตั้งที่ 2 อำเภอเมืองโต๋น
กองทัพสหรัฐว้า นอกจากเป็นกองทัพชาติพันธุ์ที่ใหญ่และมีอาวุธซึ่งทันสมัยที่สุดแล้ว ยังมีบทบาทสำคัญต่อกระบวนการสันติภาพพม่าที่ดำเนินมาเป็นเวลานาน
กองทัพว้า ภายใต้การสนับสนุนจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้รวมกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ที่ยังไม่ได้ลงนามในสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) กับรัฐบาลพม่า อีก 6 กลุ่ม จัดตั้งองค์กรที่ใช้ชื่อว่า Myanmar Peace Commission and Federal Political Negotiation Consultative Committee หรือ FNPCC เพื่อให้เป็นตัวกลางในการเจรจากับรัฐบาล โดยไม่มีการแยกเจรจาเป็นรายกลุ่ม
ใน FNPCC นอกจากว้าแล้ว ยังมีกองทัพคะฉิ่น (KIA) กองทัพเมืองลา (NDAA) กองทัพโกก้าง (MNDAA) พรรคก้าวหน้ารัฐฉาน (SSPP/SSA) กองทัพตะอั้ง (TNLA) และกองทัพอาระกัน (AA)
ทหารของกองทัพอาระกัน ได้รับการฝึกฝนโดยกองทัพคะฉิ่น
ใน FNPCC ยังมีกลุ่มย่อยประกอบด้วยกองทัพคะฉิ่น กองทัพตะอั้ง กองทัพโกก้าง และกองทัพอาระกัน ที่รวมตัวกันในนามพันธมิตรภาคเหนือ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยังมีการสู้รบกับกองทัพพม่าอยู่ โดยพื้นที่ซึ่งมีการรบอย่างต่อเนื่องและรุนแรง เกิดขึ้น 2 จุด ได้แก่ ภาคเหนือของรัฐคะฉิ่น และภาคใต้ของรัฐชิน ระหว่างกองทัพพม่ากับกองทัพอาระกัน และภาคเหนือของรัฐฉาน ระหว่างกองทัพพม่ากับกองทัพตะอั้ง
รัฐบาลพม่ามีการเจรจาเพื่อหาแนวทางปรองดองกับพันธมิตรภาคเหนือมาแล้วหลายครั้ง แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป การเจรจาครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ที่นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน ในจีน จากนั้นเมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ทั้ง 2 ฝ่ายก็ไม่มีการเจรจากันอีก
เดือนกรกฎาคมปีนี้ รัฐบาลพม่าประกาศให้กองทัพอาระกันเป็นกลุ่มก่อการร้าย ไม่ใช่กองกำลังติดอาวุธของชาติพันธุ์ ทำให้กองทัพอาระกันไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมสันติภาพครั้งที่ 4 (ปางโหลงศตวรรษที่ 21) ซึ่งจัดขึ้นในกรุงเนปิดอ ในเดือนสิงหาคม
การประชุมปางโหลงศตวรรษที่ 21 ครั้งที่ 4 นอกจากเชิญตัวแทนกองกำลังติดอาวุธ 10 กลุ่มที่ได้ลงนามใน NCA กับรัฐบาลแล้ว ยังมีการเชิญตัวแทนกองกำลังที่ยังไม่ได้ลงนามไปร่วมประชุมด้วย โดยตอนแรก ตัวแทนจากพรรคก้าวหน้ารัฐฉาน กับตัวแทนจากกองทัพคะฉิ่น ได้ตอบรับจะลงไปร่วมประชุม
แต่ปรากฏว่าก่อนเริ่มประชุมเพียงไม่กี่วัน ว้าได้เรียกสมาชิก FNPCC ไปพูดคุยกันที่เมืองป๋างซาง เมืองหลวงของสหรัฐว้า และมีมติว่าสมาชิก FNPCC ทั้งหมดจะไม่ส่งตัวแทนลงไปร่วมประชุมปางโหลงศตวรรษที่ 21 ครั้งที่ 4 ที่เนปิดอ
FNPCC ให้เหตุผลว่า เนื่องจากรัฐบาลไม่ได้เชิญกองทัพอาระกัน ซึ่งเป็น 1 ในสมาชิก FNPCC เข้าร่วมประชุมด้วยเพราะได้นิยามให้เป็นกลุ่มก่อการร้ายไปแล้ว การประชุมครั้งนี้จึงไม่ชอบธรรม
วันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา หลังพ้นการเลือกตั้งทั่วไปไม่กี่วัน 3 กองทัพในกลุ่มพันธมิตรภาคเหนือ ได้แก่ กองทัพอาระกัน กองทัพตะอั้ง และกองทัพโกก้าง ได้ออกแถลงการณ์หยุดยิงฝ่ายเดียวกับกองทัพพม่าไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม ในแถลงการณ์ดังกล่าว ได้เสนอเงื่อนไขไปถึงรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามารับหน้าที่ในปีหน้า ให้ถอนชื่อกองทัพอาระกันออกจากรายชื่อกลุ่มก่อการร้าย.