เอพี - พลเมืองพม่าจะออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งกันในวันอาทิตย์นี้ (8) ในความพยายามที่จะรักษาระบอบประชาธิปไตยที่พวกเขาเพิ่งช่วยกันสร้างขึ้นมาเมื่อ 5 ปีก่อน
พม่ามีผู้มีสิทธิเลือกตั้งราว 37 ล้านคน แต่ด้วยผู้ป่วยติดเชื้อโควิดที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้ออกมาใช้สิทธิ
ในปี 2558 ความตื่นเต้นนั้นมีสูงมากเนื่องจากเป็นโอกาสที่จะยุติการปกครองโดยตรงของทหารกว่า 5 ทศวรรษ พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) คว้าชัยในการเลือกตั้งได้อย่างถล่มทลาย และซูจีกลายเป็นผู้นำประเทศ หลังผ่านช่วงเวลายากลำบากนานหลายปีจากการต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรงกับเผด็จการทหาร ที่ทำให้ซูจีได้รับการชื่นชมจากนานาชาติ
ในปีนี้ พรรคของซูจีถูกคาดหมายว่าจะชนะการเลือกตั้งอีกครั้ง แม้นักวิจารณ์บางคนรู้สึกว่าการบริหารงานของซูจีนั้นล้มเหลวก็ตาม
โอกาสสำหรับการปฏิรูปที่แท้จริงยังคงเป็นเรื่องยาก เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2551 ที่ร่างขึ้นโดยทหาร ได้สงวนที่นั่งในสภาให้แก่ทหารไว้มากพอที่จะขัดขวางการแก้ไขกฎหมาย รวมถึงการควบคุมกระทรวงสำคัญต่างๆ
นักวิจารณ์กล่าวหาซูจีและพรรคของเธอว่ากังวลเกี่ยวกับการยึดอำนาจไว้กับตัวเอง มากกว่าที่จะมุ่งสนับสนุนประชาธิปไตยในวงกว้าง
ขิ่น ซอ วิน ผู้อำนวยการสถาบัน Tampadipa ในนครย่างกุ้ง กล่าวว่า ซูจีและพรรคของเธอไม่ได้นำประชาธิปไตยมาสู่พม่า แต่พยายามนำประชาธิปไตยแบบพรรคเดียวมาสู่พม่า
นอกจากนี้ กระบวนการลงคะแนนเสียงยังกลายเป็นประเด็นขัดแย้ง เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งของรัฐ ถูกกล่าวหาว่ารู้เห็นกับพรรครัฐบาลของซูจี จากการยกเลิกการเลือกตั้งในพื้นที่ที่พรรคการเมืองที่วิจารณ์รัฐบาลมั่นใจว่าจะชนะที่นั่ง
คณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งสหภาพยืนยันว่า การยกเลิกการเลือกตั้งเป็นเพราะความขัดแย้งทางอาวุธกับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์เกิดขึ้นในพื้นที่เหล่านั้น
การตัดสินใจดังกล่าวของคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นหนึ่งในหลายประเด็นที่ โธมัส แอนดรูว์ ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในพม่า วิจารณ์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
เขากล่าวว่า พม่าจะไม่สามารถจัดการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมได้ตราบเท่าที่สิทธิในการเลือกตั้งถูกปฏิเสธด้วยเหตุผลจากเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ หรือศาสนา เช่นเดียวกับโรฮิงญา
ด้วยอคติยาวนานที่มีต่อชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮิงญา ที่หลายคนมองว่าเป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากเอเชียใต้ แม้ว่าครอบครัวของคนเหล่านั้นจะอาศัยอยู่ในพม่ามาหลายชั่วอายุคนก็ตาม ทำให้พวกเขาส่วนใหญ่ถูกถอนสิทธิการเป็นพลเมือง
เพื่อนทางตะวันตกของพม่าต่างตกตะลึงกับเหตุการณ์การต่อต้านผู้ก่อความไม่สงบในปี 2560 โดยกองทัพพม่า ที่ทำให้โรฮิงญาราว 740,000 คน ต้องหลบหนีไปบังกลาเทศ และนำมาซึ่งข้อกล่าวหาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
เหตุการณ์ที่ยังส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของซูจี ว่าเธอล้มเหลวที่จะยับยั้งกองกำลังความมั่นคง แต่สำหรับคนส่วนใหญ่ในพม่านั้น โรฮิงญาไม่ใช่ประเด็นในการเลือกตั้ง
แอนดรูว์ ยังกล่าวว่า พรรคการเมืองฝ่ายค้านอ้างว่าพวกเขาถูกปฏิเสธการเข้าถึงสื่อของรัฐและข้อความของพวกเขาถูกเซ็นเซอร์เนื่องจากวิพากษ์วิจารณ์นโยบายรัฐบาล
นอกจากนี้ มาตรการในการควบคุมโควิดอย่างเข้มงวดยังจำกัดการรณรงค์หาเสียงแบบดั้งเดิมของทุกพรรค เว้นแต่ซูจีที่ได้ประโยชน์จากการรายงานผ่านสื่อของรัฐเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของเธอ และจากการรายงานสถานการณ์การต่อสู้กับโควิดที่เผยแพร่ทางหน้าเฟซบุ๊กของเธออยู่เป็นประจำ
การบริหารของเธอยังถูกวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มผู้สนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออก แม้กฎหมายบางอย่างเกี่ยวกับการเซ็นเซอร์และการออกใบอนุญาตจะถูกยกเลิกลง แต่ทางการยังคงใช้กฎหมายหมิ่นประมาทและการโทรคมนาคมกับนักข่าวและนักเคลื่อนไหวที่วิจารณ์รัฐบาลและทหาร
ความล้มเหลวของแผนที่จะสร้างความปรองดองกับชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์หลากหลายในประเทศ เป็นอีกหนึ่งรอยด่างพร้อยในชื่อเสียงของซูจี กลุ่มชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ ที่ส่วนใหญ่อยู่ตามพื้นที่ชายแดนของประเทศ ได้ต่อสู้เรียกร้องสิทธิในการปกครองตนเองมานานหลายสิบปี
ในปี 2558 พรรคการเมืองชาติพันธุ์พรรคต่างๆ ทำข้อตกลงกับพรรค NLD เพื่อรับประกันชัยชนะต่อพรรคสหสามัคคีและการพัฒนาที่ทหารให้การสนับสนุนและเป็นผู้ท้าชิงหลักของพรรคซูจี
แต่ในปีนี้ จากความผิดหวังต่อความล้มเหลวของซูจีที่จะบรรลุข้อตกลงขยายสิทธิทางการเมืองให้แก่พวกเขา พรรคการเมืองชาติพันธุ์พรรคต่างๆ เหล่านี้จะผลักดันแต่ผู้สมัครของตัวเอง
อย่างไรก็ตาม จนถึงตอนนี้ ซูจียังคงเป็นบุคคลทางการเมืองที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของประเทศ
“ผมคิดว่ามันเป็นการสนับสนุนส่วนบุคคลอย่างแท้จริง กระทั่งความรักที่หลายคนมีให้แก่ตัวซูจี แทบไม่คำนึงถึงผลงานการบริหารของรัฐบาล ผลงานเศรษฐกิจ และอื่นๆ” ริชาร์ด ฮอร์ซีย์ส นักวิเคราะห์การเมือง กล่าว.