xs
xsm
sm
md
lg

ชาวมุสลิม-ฮินดูในพม่าโอดประเด็นชาติพันธุ์-ศาสนาทำถูกเลือกปฏิบัติไร้สิทธิเลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - เม ทันดา หม่อง หนึ่งในคนหนุ่มสาวกว่า 5 ล้านคนของพม่า รู้สึกตื่นเต้นที่จะได้ลงคะแนนเสียงเป็นครั้งแรกในการเลือกตั้งเดือน พ.ย.นี้ แต่หญิงสาวอายุ 18 ปีผู้นี้นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งนั่นหมายความว่าเธอยังคงไร้สิทธิไร้เสียง

“เพราะศาสนาของฉันทำให้ฉันไม่สามารถขอบัตรประจำตัวประชาชนได้” ทันดา หม่อง กล่าวกับเอเอฟพีจากเมืองมิถิลา (Meiktila) ทางตอนกลางของพม่า และการไม่มีบัตรประชาชนนั้นหมายความว่าไม่มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง

ทันดา หม่อง อธิบายว่า เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นขัดขวางความพยายามของเธอมานานกว่า 1 ปี ขณะที่เพื่อนชาวพุทธกลับไม่ต้องเผชิญกับความล่าช้าเช่นนี้

เป็นที่คาดการณ์กันอย่างกว้างขวางว่า พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของอองซานซูจี จะกลับเข้ากุมอำนาจบริหารประเทศอีกหนในการเลือกตั้งวันที่ 8 พ.ย. นับตั้งแต่พม่าหลุดพ้นจากการปกครองของทหารในปี 2554

ชาวมุสลิมโรฮิงญา ไม่ว่าที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยบังกลาเทศ หรือถูกควบคุมอยู่ในค่ายพักและหมู่บ้านต่างๆ ในพม่า พวกเขาเกือบทั้งหมดถูกตัดสิทธิอย่างสิ้นเชิง

แต่พม่ายังมีชาวมุสลิมในกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ อีกจำนวนมาก ที่มีสัดส่วนราว 4% ของประชากรทั้งหมดของประเทศ ซึ่งในทางทฤษฎี พวกเขาได้รับการยอมรับว่าเป็นพลเมือง แต่ในทางปฏิบัติ อาจแตกต่างออกไป

ชาวมุสลิมร้องเรียนต่อเอเอฟพีถึงการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ โดยให้รายละเอียดว่าพวกเขาถูกบังคับให้จ่ายเงินใต้โต๊ะจำนวนหลายร้อยดอลลาร์ ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงเกินไปในประเทศที่ 1 ใน 4 ของประชากรยังอยู่ในความยากจน

หม่อง จอ ชายวัย 53 ปี กล่าวว่า สมาชิก 3 คนในครอบครัวของเขาต้องจ่ายเงินคนละ 370 ดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่าค่าน้ำร้อนน้ำชาที่เรียกเก็บกับชาวพุทธ

เดวิด แมทธีสัน นักวิเคราะห์จากนครย่างกุ้ง กล่าวว่า ความรู้สึกต่อต้านชาวมุสลิมปรากฏให้เห็นจากการเลือกปฏิบัติทั้งในโรงเรียน สถานที่ทำงาน และการเข้าถึงงานของรัฐ

นอกจากนี้ ความท้าทายยังเกิดขึ้นแม้กระทั่งกับผู้ที่มีบัตรประชาชน เนื่องจากบัตรประชาชนของพม่าระบุชาติพันธุ์ของผู้ถือบัตร

ชาวมุสลิมจำนวนมากกล่าวว่า ชุมชนของพวกเขาถูกยัดเยียดให้รับอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งมักมาจากเอเชียใต้ เช่นครอบครัวของหม่อง จอ ที่อาศัยอยู่ในพม่ามาหลายชั่วอายุคน ยังถูกระบุในบัตรว่าเป็นชาวมุสลิมอินเดีย เมื่อต่ออายุบัตรประชาชนใหม่

“คงเป็นเพราะหนวดเคราของผม” หม่อง จอ กล่าว




เช่นเดียวกับคนที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดผสม’ เวลานี้ หม่อง จอ ต้องเผชิญกับการถูกตรวจสอบอย่างละเอียดเป็นพิเศษกับการตรวจบัตรประชาชน และต้องยืนต่อแถวแยกออกไปที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

ส่วนชาวฮินดูพม่า ที่มีจำนวนราว 250,000 คน ก็ถูกตีตราว่าเป็นเลือดผสม และเผชิญกับปัญหาคล้ายกัน

ตุน มิน อายุ 28 ปี จากนครย่างกุ้งกล่าวกับเอเอฟพีว่า เขาต้องใช้เวลาถึง 10 ปี กว่าจะได้บัตรประชาชน และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เขาได้โพสต์วิดีโอลงบนเฟซบุ๊กบอกเล่าเรื่องที่ชุมชนของเขาต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติ

“ผมขับแท็กซี่มา 8 ปีแล้ว แต่ขับได้เฉพาะเวลากลางคืน เพราะผมไม่มีบัตรประชาชนไปยื่นขอใบอนุญาต” ตุน มิน กล่าว

อย่างไรก็ตาม อัตลักษณ์ที่เป็นที่ต้องการน้อยที่สุดในพม่าคือ ‘เบงกาลี’ คำดูถูกเหยียดหยามที่มักใช้อ้างถึงชาวโรฮิงญา

พม่าเผชิญกับข้อกล่าวหาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ศาลสูงของสหประชาชาติ หลังทหารขับชาวโรฮิงญาราว 750,000 คน ออกจากรัฐในการปราบปรามกลุ่มติดอาวุธในปี 2560

ชาวโรฮิงญาจำนวนมากจาก 600,000 คน ที่ยังอยู่ในพม่า ถูกปฏิเสธสถานะพลเมืองและถูกลิดรอนสิทธิ

แมทธีสัน กล่าวว่า มีรายงานจำนวนมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเกี่ยวกับชาวมุสลิมทั่วประเทศว่ายังถูกบังคับให้ยอมรับ ‘เบงกาลี’ เป็นอัตลักษณ์

แมทธีสันกล่าวโทษกระบวนการของระบบราชการที่เหยียดเชื้อชาติและเลือกปฏิบัติ และเตือนว่ารัฐบาลไม่พยายามที่จะยกเลิกการปฏิบัติดังกล่าว

“พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยมีวาระที่มีความสำคัญมากกว่าแก้ไขระบบเหยียดเชื้อชาติ ซึ่งผู้สนับสนุนพรรคจำนวนมากก็ไม่ได้ทุกข์ร้อนกับเรื่องนี้” แมทธีสัน กล่าว

เจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่ขอไม่เปิดเผยชื่อ ได้กล่าวปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่องการทุจริตและการเลือกปฏิบัติ โดยยืนยันว่าการออกบัตรประชาชนเป็นไปตามกฎหมาย




อย่างไรก็ตาม หม่อง จอ กล่าวว่า เขาคิดว่าการเหยียดเชื้อชาติต่อต้านชาวมุสลิมในตอนนี้เลวร้ายกว่าสมัยรัฐบาลทหาร ซึ่งชุมชนของเขาทั้งผิดหวังและหดหู่

หลายคนที่เขารู้จักวางแผนที่จะไม่ลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งที่จะมาถึง การรณรงค์คว่ำบาตรการเลือกตั้งกำลังอยู่ระหว่างรวบรวม

สิธู หม่อง อดีตแกนนำนักศึกษาและนักโทษการเมือง เป็นหนึ่งในชาวมุสลิมเพียง 2 คน จากผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรค NLD ทั้งหมด 1,143 คน และในปี 2558 พรรคไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งที่เป็นชาวมุสลิมแม้แต่คนเดียว

สิธู หม่อง กล่าวว่า เขาเข้าใจความรู้สึกผิดหวังของชุมชน แต่ปฏิเสธความคิดที่ว่าเวลานี้ย่ำแย่กว่ายุครัฐบาลทหาร

“พวกเขาควรมองโลกในแง่ดีเกี่ยวกับอนาคต พรรค NLD เพิ่งบริหารประเทศได้เพียง 5 ปี” สิธู หม่อง กล่าว

แต่การมองโลกในแง่ดีกำลังลดน้อยลงในหมู่คนหนุ่มสาว เช่น เม ทันดา หม่อง

“แม้ว่าฉันเกิดและโตที่นี่ แต่ฉันกลับไม่สามารถใช้สิทธิออกเสียงได้ นั่นคือการเลือกปฏิบัติ” เม ธันดา หม่อง กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น