เอเอฟพี - ชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ของพม่าแสดงความวิตกกังวลว่าการระบาดของโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จะมาถึงค่ายที่แออัดของพวกเขา หลังเมืองสิตตะเว เมืองเอกของรัฐ มีผู้ติดเชื้อวิด-19 จำนวนมาก จนทำให้ทางการสั่งล็อกดาวน์
ชาวมุสลิมโรฮิงญาเกือบ 130,000 คน อาศัยอยู่ในสิ่งที่องค์การนิรโทษกรรมสากลอธิบายว่าเป็นสภาพของการเลือกปฏิบัติในค่ายทั่วเมืองสิตตะเว
เมืองสิตตะเวพบผู้ติดเชื้อโควิด 48 คนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 10% ของผู้ติดเชื้อทั้งหมดในประเทศราว 400 คน
“เรากังวลกันมากเรื่องไวรัส เพราะเราถูกทิ้งอยู่ในพื้นที่คุมขังและยากที่จะควบคุม” จ่อ จ่อ ชาวโรฮิงญา กล่าว
เจ้าหน้าที่ที่เดินทางไปเยี่ยมค่ายโรฮิงญาในสัปดาห์นี้เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับมาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคม ที่เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เนื่องจากโรฮิงญา มักอยู่รวมกัน 10 ครอบครัวในบ้านหลังเดียว และยังได้มอบเจลแอลกอฮอล์ล้างมือและหน้ากากอนามัยให้แก่ค่าย
“แต่หากเมืองถูกล็อกดาวน์เป็นเวลานาน เราจะต้องการความช่วยเหลือ” จ่อ จ่อ กล่าวกับเอเอฟพี และเสริมว่า ทุกคนในค่ายต้องขังตัวเองอยู่ในบ้าน
วันนี้ (23) ถนนในเมืองสิตตะเวว่างโล่ง หลายเส้นทางถูกปิด ขณะที่พ่อค้าแม่ค้าออกเร่ขายเฟซชีลด์และหน้ากากอนามัย
ทางการยังออกคำสั่งเคอร์ฟิวในช่วงกลางคืนตั้งแต่วันศุกร์ (21) ส่วนระบบขนส่งสาธารณะเข้าออกเมืองสิตตะเว ที่รวมถึงเที่ยวบินภายในประเทศถูกระงับ
รัฐยะไข่ เป็นพื้นที่ที่เกิดความขัดแย้งทางศาสนาและชาติพันธุ์ และโดยส่วนใหญ่แล้ว ชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮิงญาถูกพิจารณาว่าเป็นชาวเบงกาลีจากต่างชาติ แม้จะอาศัยอยู่ในพม่ามาหลายชั่วอายุคนแล้วก็ตาม พวกเขาขาดทั้งสิทธิในการเป็นพลเมืองและถูกจำกัดเสรีภาพในการเคลื่อนไหวทั่วประเทศ
ในสัปดาห์นี้ สมาชิกสภารัฐยะไข่ได้กล่าวโทษโรฮิงญาสำหรับการแพร่ระบาดของไวรัสที่เกิดขึ้นในโพสต์เฟซบุ๊ก แต่ต่อมาโพสต์ดังกล่าวก็ถูกลบออก
โรฮิงญาราว 750,000 คน หลบหนีออกจากรัฐยะไข่ไปบังกลาเทศหลังเกิดการปราบปรามทางทหารในปี 2560 ปฏิบัติการที่ทำให้พม่ากำลังเผชิญต่อข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ศาลสูงสุดของสหประชาชาติในตอนนี้
ทางตอนเหนือขึ้นไปของรัฐยะไข่ ทหารกำลังต่อสู้กับกองทัพอาระกัน (AA) กลุ่มกบฏที่แสวงหาสิทธิในการปกครองตนเองเพื่อชาวพุทธชาติพันธุ์ยะไข่ และการปะทะกันอย่างรุนแรงทำให้พลเรือนต้องพลัดถิ่นหลายพันหลายหมื่นคน
ในเมืองมรัคอูที่พบผู้ติดเชื้อโควิด 3 คนในสัปดาห์นี้ ชาวยะไข่ในพื้นที่ต่างหวาดกลัวว่าจะเกิดการระงับบริจาคอาหารให้แก่ค่ายผู้พลัดถิ่น หากไวรัสระบาดเพิ่ม เพราะพวกเขาก็ไม่สามารถหลบหนีไปที่อื่นได้ รวมถึงหมู่บ้านของพวกเขาเอง.