รอยเตอร์ - เฟซบุ๊กเผยว่าบริษัทได้แบ่งปันข้อมูลกับผู้สอบสวนของสหประชาชาติที่ไต่สวนอาชญากรรมระหว่างประเทศในพม่า หลังผู้นำการสอบสวนกล่าวว่าบริษัทไม่ยอมให้ข้อมูลหลักฐาน
ผู้แทนของเฟซบุ๊กเปิดเผยกับรอยเตอร์วานนี้ (25) ว่าบริษัทได้มอบข้อมูลจากหน้าเพจและบัญชีที่มีความเกี่ยวข้องกับทหารพม่าที่บริษัทได้ลบออกในปี 2561 เพื่อยับยั้งการใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังต่อโรฮิงญา ให้กับคณะกลไกสอบสวนอิสระในพม่า (IIMM) แล้ว แต่บริษัทปฏิเสธที่จะอธิบายถึงเนื้อหาของข้อมูลที่มอบให้
“ในขณะที่การสอบสวนเหล่านี้ดำเนินการ เราจะยังคงประสานงานกับพวกเขาอย่างต่อเนื่องเพื่อจัดหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องในการสอบสวนอาชญากรรมระหว่างประเทศในพม่า” ตัวแทนของเฟซบุ๊ก กล่าว
พม่ากำลังเผชิญข้อหาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) จากการปราบปรามของทหารต่อชาวโรฮิงญาในปี 2560 ที่ทำให้ชาวโรฮิงญากว่า 730,000 คน ต้องหลบหนีไปบังกลาเทศ
พม่าปฏิเสธการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และกล่าวว่าทหารดำเนินการปฏิบัติการอย่างถูกต้องตามกฎหมายต่อกลุ่มติดอาวุธที่โจมตีด่านตำรวจ
คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติตั้ง IIMM ขึ้นในปี 2561 เพื่อรวบรวมหลักฐานอาชญากรรมระหว่างประเทศในพม่า
ผู้สอบสวนของสหประชาชาติกล่าวว่าเฟซบุ๊กมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังที่นำไปสู่ความรุนแรง ในปี 2561 บริษัทกล่าวว่าได้ลบบัญชีผู้ใช้งานไปทั้งหมด 18 บัญชี และหน้าเพจ 52 บัญชี ที่มีความเกี่ยวข้องกับทหารพม่า รวมถึงหน้าเพจของผู้บัญชาการทหารสูงสุด แต่ยังคงรักษาข้อมูลไว้
นิโคลัส คูมเจียน หัวหน้าคณะของ IIMM กล่าวกับรอยเตอร์ในเดือนนี้ว่าเฟซบุ๊กไม่เผยหลักฐานของอาชญากรรมร้ายแรงระหว่างประเทศกับทางคณะ แม้ให้คำมั่นว่าจะให้ความร่วมมือ
อย่างไรก็ตามหัวหน้าคณะ IIMM ได้กล่าวยืนยันวานนี้ (25) ว่าคณะได้รับข้อมูลชุดแรกที่เป็นไปตามคำร้องขอก่อนหน้านี้บางส่วน
“ผมหวังว่านี่คือสัญญาณของการก้าวไปสู่ความสัมพันธ์ของความร่วมมือที่จะทำให้เราเข้าถึงหลักฐานสำคัญที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมร้ายแรงระหว่างประเทศ” นิโคลัส คูมเจียน กล่าว.