xs
xsm
sm
md
lg

โควิดทำฉันทนาเขมรตกงานอื้อ โอดรัฐช่วยเหลือช้า กลุ่มสิทธิวอนดูแลแรงงานนอกระบบให้ทั่วถึง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - เอม ธี หญิงชาวเขมร เป็นหนึ่งในแรงงานโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ถูกเลิกจ้างเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ระบาด เธอเฝ้ารอนานถึง 3 ชั่วโมงพร้อมกับกลุ่มแรงงานอีกหลายร้อยชีวิตที่รวมตัวกันเพื่อให้นายหน้าจัดหางานจากโรงงานเลือกตัวไปทำงานแบบรายวัน

แต่สุดท้ายเธอก็พบว่าตนเองไม่ใช่ผู้ที่ถูกเลือก แรงงานหญิงวัย 53 ปีรายนี้ร้องตะโกนต่อว่าไล่หลังนายหน้าหางานที่ขับรถออกไปโดยทิ้งเธอไว้ข้างหลัง

“ทำไมชะตาชีวิตของฉันต้องอยู่ในมือนายหน้าเลวๆ พวกนี้” เอม ธี กล่าวกับรอยเตอร์ หลังจากเธอต้องสูญเสียงานที่เคยทำมาตลอด 20 ปี เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา

อุตสาหกรรมสิ่งทอของกัมพูชา กระดูกสันหลังมูลค่า 7,000 ล้านดอลลาร์ของเศรษฐกิจประเทศที่สร้างงานราว 850,000 ตำแหน่ง ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่บรรดาผู้ค้าปลีกรายใหญ่จากตะวันตกยกเลิกคำสั่งซื้อหรือเรียกร้องส่วนลดจากซัปพลายเออร์

ราว 1 ใน 3 ของโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป 600 แห่งของประเทศต้องปิดกิจการ เป็นผลให้แรงงานหลายหมื่นต้องตกงาน และปล่อยให้พวกเขาดิ้นรนต่อสู้เอาชีวิตรอดเมื่อความช่วยเหลือจากภาครัฐล่าช้า

หลายคนที่ตกงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ได้เข้าร่วมการรวมกลุ่มก่อนรุ่งสางที่บรรดาโรงงานต่างๆ จะส่งนายหน้าไปหาแรงงานหญิงเพื่อมาทำงานรายวันโดยไม่ขึ้นทะเบียน เป็นแรงงานนอกระบบ

เอม ธี กล่าวว่า เธอไม่มีทางเลือกเพราะเธอมีครอบครัวต้องเลี้ยงดู แต่รู้สึกหงุดหงิดที่ต้องรับมือกับนายหน้าหางาน เมื่อพวกเขารู้ว่าจะใช้วิธีพูดกับแรงงานแต่ละคนอย่างไรแต่สุดท้ายแล้วก็ไม่ทำอย่างที่พูด

ก่อนเกิดการระบาด ผู้หญิงเกือบทั้งหมดในตลาดแรงงานนอกระบบคาดว่ารับงานรายวันและทำรายได้ราว 8 ดอลลาร์ ใกล้เคียงกับค่าแรงขั้นต่ำ 190 ดอลลาร์ต่อเดือน

แต่เวลานี้ ผู้หญิงเหล่านั้นกล่าวว่าถ้าได้งาน 1 วันต่อสัปดาห์ก็ถือว่าโชคดีแล้ว เนื่องจากอำนาจในการต่อรองน้อยลงเมื่อจำนวนคนว่างงานมากขึ้น

แรงงานหญิงรายหนึ่งกล่าวว่า เธอได้รับคำสัญญาทำงานนาน 1 สัปดาห์ แต่ในวันทำงานวันสุดท้ายกลับไม่มีนายหน้ามารับเธอที่ตลาดเพื่อไปทำงาน

“ฉันจะได้เงินค่าแรงของฉันไหม? แล้วฉันจะมีเวลาไปตามหาเขาเพื่อเอาเงินของฉันหรือเปล่า แน่นอนว่าฉันไม่มีเวลา ไม่มีประโยชน์แล้ว” หญิงวัย 34 ปี ที่ถูกออกจากงานหลังโรงงานลดขนาดการผลิตในเดือน มี.ค. กล่าว

นายหน้าหางานรายหนึ่งกล่าวว่า ถ้าแรงงานเรียกร้องมากเกินไป พวกเขาก็จะไม่ถูกเลือก






ทั่วภูมิภาคเอเชีย นักรณรงค์ได้เตือนถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนในภาคการตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่แรงงานถูกบังคับให้ยอมรับเงื่อนไขเลวร้ายอย่างการปรับลดตำแหน่งงาน และหัวหน้าโรงงานถูกกล่าวหาว่าใช้เรื่องการระบาดของไวรัสปรับลดจำนวนคนงานโดยมุ่งเป้าไปที่สหภาพแรงงาน

“มีความกังวลใหญ่หลวงเกี่ยวกับผลกระทบของวิกฤตที่ผลักดันคนงานเข้าสู่พื้นที่ที่ไม่น่าพอใจ ไม่เป็นที่ต้องการของเศรษฐกิจ” เจ้าหน้าที่จากองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ กล่าว

ในบรรดาผู้หญิงหลายร้อยคนที่รออยู่ริมถนน หลายคนดูเหมือนจะมีอายุต่ำกว่า 18 ปี กฎหมายของกัมพูชาอนุญาตให้เด็กทำงานที่ไม่เป็นอันตรายได้ตั้งแต่อายุ 15 ปี หากได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง

เมื่อสัปดาห์ก่อน สหประชาชาติได้เตือนว่าการระบาดของโควิด-19 อาจนำพาให้ครอบครัวต่างๆ พาบุตรหลานมาทำงาน และจากการสำรวจขององค์กรการกุศล Plan International พบว่า มีเด็กกัมพูชาทำงานถึง 1 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่าง 480 คน โดยจำนวนแรงงานเด็กเพิ่มสูงขึ้นนับตั้งแต่เกิดการระบาด

เคน ลู หัวหน้าสมาคมผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปกัมพูชา กล่าวว่า งานบางอย่างในโรงงานถูกกฎหมายสำหรับผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี แต่ทางสมาคมไม่แนะนำให้สมาชิกจ้างเด็กทำงาน เนื่องจากมีแรงงานวัยผู้ใหญ่มากเพียงพอ

ด้านโฆษกกระทรวงแรงงานแม้ไม่ได้ตอบคำถามเกี่ยวกับการจ้างเด็กทำงานในอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป แต่ระบุว่าคำร้องเรียนใดๆ ของแรงงานนอกระบบเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิโดยหัวหน้าโรงงานหรือนายหน้าควรส่งตรงถึงผู้ตรวจสอบแรงงานของรัฐบาล

เมื่อเดือน เม.ย. ทางการกัมพูชาให้คำมั่นว่าแรงงานในภาคอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อและการท่องเที่ยวจะได้รับเงินช่วยเหลือ 40 ดอลลาร์ต่อเดือนจากรัฐ และจนถึงตอนนี้ เงินราว 2.7 ล้านดอลลาร์ได้กระจายไปถึงประชาชนมากกว่า 125,000 คน และอยู่ระหว่างดำเนินการอีกจำนวนมาก ตามการระบุของโฆษกกระทรวงแรงงาน

แต่อย่างไรก็ตาม คุน ธาโร ผู้อำนวยการโครงการศูนย์พันธมิตรแรงงานและสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า การดำเนินการยังคงล่าช้าและกระบวนการยื่นคำร้องซับซ้อนเกินไป

“คนหาเช้ากินค่ำรอกันมานานหลายเดือน” คุน ธาโร กล่าว และเรียกร้องให้ทางการขยายความช่วยเหลือให้แก่แรงงานนอกระบบเหล่านี้.


กำลังโหลดความคิดเห็น