รอยเตอร์/ซินหวา - ธนาคารโลกระบุว่าเศรษฐกิจกัมพูชามีแนวโน้มที่จะหดตัวลงระหว่างร้อยละ 1-2.9 ในปีนี้ ซึ่งนับเป็นผลงานที่ย่ำแย่ที่สุดในรอบ 25 ปี เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบไปทั่วโลก และส่งผลต่อตัวขับเคลื่อนการเติบโตที่สำคัญของกัมพูชา
รายงานล่าสุดของธนาคารโลก ระบุว่า การระบาดของโควิด-19 กำลังส่งผลกระทบต่อตัวขับเคลื่อนหลักของการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชา คือ การท่องเที่ยว การส่งออกการผลิต และการก่อสร้าง ที่มีสัดส่วนรวมกันมากกว่า 70% ของการเติบโตของประเทศ และเกือบ 40% ของการจ้างงาน นอกจากนี้ ยังทำให้ชาวเขมรที่ทำงานอยู่ในภาคส่วนดังกล่าวอย่างน้อย 1.76 ล้านตำแหน่งอยู่ในความเสี่ยง
การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ไปทั่วโลกนี้ ยังส่งผลให้ความต้องการจากแบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นระดับโลกลดลง เป็นผลให้คำสั่งซื้อลดลงตามไปด้วย จากเหตุนี้ทำให้โรงงานเสื้อผ้าต่างๆ ต้องหยุดการทำงานและปรับลดแรงงานลงหลายแสนตำแหน่งในภาคส่วนที่ทำรายได้ให้แก่ประเทศราว 7,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี
ความยากจนในปี 2563 อาจเพิ่มขึ้นในหมู่ครัวเรือนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในภาคส่วนสำคัญทั้งการท่องเที่ยว การก่อสร้าง การค้า การผลิตและอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้า ราว 3-11% และการขาดดุลงบประมาณอาจแตะระดับสูงสุดในรอบ 22 ปี
รายงานยังเตือนว่า กระแสเงินทุนไหลเข้ากำลังลดลง ส่งผลให้ราคาตลาดอสังหาริมทรัพย์ปรับลดเช่นกัน และมีแนวโน้มที่จะยุติช่วงเวลาการเติบโตอย่างเฟื่องฟูของภาคการก่อสร้าง และด้วยสินเชื่อคงค้างขนาดใหญ่ในปัจจุบันในภาคการก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ และการจำนอง อาจทำให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มสูงขึ้นด้วย
ในการตอบสนองต่อสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 รายงานได้แนะนำทางเลือกนโยบายที่มีเป้าหมายในการบรรเทาลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน และการคุ้มครองสุขภาพของประชาชนโดยทันที หนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะสั้น และส่งเสริมการคลังเชิงมหภาคและความยืดหยุ่นทางสังคมในระยะกลาง
“การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานโลกที่เกิดจากการระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจของกัมพูชา ธนาคารโลกมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือกัมพูชารับมืออย่างมีประสิทธิภาพต่อวิกฤตโควิด-19 และเสริมสร้างเศรษฐกิจเพื่อการฟื้นฟูและความยืดหยุ่นในการรับมือในอนาคต” ผู้จัดการธนาคารโลกประจำกัมพูชา ระบุในถ้อยแถลง
นอกจากนี้ รายงานยังมุ่งเน้นเป็นพิเศษถึงความสำคัญของคุณภาพของการศึกษา ด้วยเป็นกุญแจสำคัญต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการเติบโตในกัมพูชาอย่างยั่งยืน โดยเน้นย้ำถึงนโยบายสำคัญที่แนะนำให้ปรับปรุงคุณภาพการศึกษาในกัมพูชา เช่น การส่งเสริมความรับผิดชอบในโรงเรียนรัฐ การเชื่อมโยงการเพิ่มเงินเดือนและการเลื่อนตำแหน่งตามผลงาน และการยกระดับความสามารถและคุณภาพของครู เป็นต้น.