เอเอฟพี - สหภาพยุโรปตัดสิทธิประโยชน์ทางการค้าสำหรับกัมพูชาจากปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประเทศ ตามการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหภาพยุโรป
สหภาพยุโรป ระบุว่า กลุ่มจะระงับสิทธิพิเศษปลอดภาษีบางส่วนที่อยู่ภายใต้ข้อตกลง "Everything But Arms" (EBA) โครงการที่มีวัตถุประสงค์จะช่วยกระตุ้นการค้าในประเทศที่มีเศรษฐกิจยากจนที่สุดในโลก
“สหภาพยุโรปจะไม่ยืนเฉยและมองดูประชาธิปไตยถูกกัดเซาะ สิทธิมนุษยชนถูกจำกัด และการถกเถียงอย่างเสรีถูกปราบปราม” โจเซฟ บอเรลล์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป กล่าว
การตัดสินใจครั้งนี้ของสหภาพยุโรปแม้จะเป็นเพียงบางส่วน แต่การถอดถอนสิทธิพิเศษทางการค้านี้จะส่งผลกระทบราว 20% หรือประมาณ 1,000 ยูโรของมูลค่าการส่งออกของกัมพูชาไปยังสหภาพยุโรปในแต่ละปี
“การเคารพสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเจรจาต่อรองได้สำหรับเรา เราตระหนักถึงความคืบหน้าที่เกิดขึ้นในกัมพูชา แต่ข้อกังวลสำคัญยังคงอยู่” ฟิล โฮแกน ผู้แทนการค้าของสหภาพยุโรป กล่าว
นายกรัฐมนตรีฮุนเซน กล่าววานนี้ว่า ประเทศของเขาจะไม่ยอมก้มหัวให้แก่ผู้ใด หลังเผชิญต่อการวิพากษ์วิจารณ์ของสหภาพยุโรป และในขณะเดียวกัน ได้เตือนถึงเศรษฐกิจที่ไม่ราบรื่นที่ประเทศอาจต้องเผชิญในอนาคต ด้วยโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าบางแห่งมีแนวโน้มที่จะต้องปิดดำเนินการในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าที่เป็นผลจากห่วงโซ่อุปทานสำคัญจากจีนชะลอตัวท่ามกลางวิกฤตไวรัสโควิด-19
“เราต้องพยายามที่จะอยู่รอดด้วยตัวของเราเอง” ฮุนเซน กล่าว
ความเคลื่อนไหวของสหภาพยุโรปนี้เกิดขึ้นหลังกลุ่มเรียกร้องซ้ำๆ เรื่องการถอนฟ้องนายแกม สุขา หัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีในข้อหากบฏทรยศชาติ ข้อหาที่ถูกมองว่ามีแรงจูงใจทางการเมือง
การตัดสินใจของสหภาพยุโรปสามารถส่งผลกระทบอย่างหนักต่อภาคตัดเย็บเสื้อผ้าของประเทศที่มีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ อุตสาหกรรมที่จ้างแรงงานมากกว่า 700,000 คน ตามการระบุของสมาคมโรงงานของประเทศ
กัมพูชาเป็นผู้จัดส่งเสื้อผ้ารายใหญ่อันดับ 6 ของสหภาพยุโรป และส่งออกเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์สิ่งทอไปยังสหภาพยุโรปเป็นมูลค่ามากกว่า 4,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2561
แต่ภาคส่วนอื่นๆ ของเศรษฐกิจประเทศได้รับการสนับสนุนจากการลงทุนและเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำของจีนที่มอบให้โดยไม่ตั้งคำถามถึงประเด็นสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย.