xs
xsm
sm
md
lg

ฉันทนาเขมรเสี่ยงถูกละเมิดหนัก หลังรัฐบาลแก้กฎหมายลดทอนสิทธิ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




รอยเตอร์ - แรงงานที่ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปในกัมพูชาให้แก่แบรนด์แฟชั่นระดับโลกเผชิญต่อความเสี่ยงที่จะถูกละเมิดสิทธิมากขึ้นจากกฎหมายที่ถูกปรับแก้ ตามการเปิดเผยของสหภาพแรงงานที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลว่ากีดกันไม่ให้พวกเขามีส่วนร่วม

ชาวกัมพูชาราว 800,000 คน ที่ทำงานในโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหญิงสาว กำลังเผชิญกับอนาคตที่ไม่แน่นอนเมื่อสหภาพยุโรปข่มขู่ว่าจะดำเนินมาตรการลงโทษทางการค้าอันเนื่องจากประเด็นปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย

ในสถานการณ์ความไม่พอใจครั้งล่าสุดที่ทำให้สหภาพแรงงานต้องออกมาเรียกร้องสิทธิของแรงงานที่ดียิ่งขึ้นนั้น มีสาเหตุมาจากการที่ทางการกัมพูชาได้ผ่านมติปรับแก้กฎหมายเมื่อสัปดาห์ก่อน ซึ่งนักเคลื่อนไหวกล่าวว่า ทำให้คนงานต้องตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกละเมิดสิทธิในประเทศที่มูลนิธิวอล์กฟรี ระบุว่า ชาวเขมรทุกๆ 1 ใน 60 คน เป็นทาส

“การปรับแก้กฎหมายรอบล่าสุดยิ่งลดทอนสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงานของเหล่าคนงานมากยิ่งขึ้น ทั้งการจำกัดเสรีภาพในการสมาคมของพวกเขา และสิทธิในการจัดการและร่วมเจรจาต่อรอง” สหภาพแรงงานและกลุ่มผู้สนับสนุนรวม 36 กลุ่ม ระบุในคำแถลงสัปดาห์นี้

กฎหมายที่ได้รับการปรับแก้ใหม่อาจทำให้รัฐบาลสามารถเพิกถอนการจดทะเบียนสหภาพได้ตามอำเภอใจ ไม่มอบสิทธิในการเจรจาต่อรองเกี่ยวกับค่าแรงและเงื่อนไขที่ดีขึ้นกับสหภาพแรงงานทั้งหมด และป้องกันมิให้แรงงานนอกระบบตั้งสหภาพ คำแถลงระบุ

ฝ่ายโฆษกรัฐบาลกล่าวว่า กระบวนการดำเนินการไปตามขั้นตอนและสหภาพพลาดโอกาสของพวกเขาที่จะแสดงความเห็นระหว่างการหารือเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

“พวกเขาควรต้องโต้แย้งก่อนที่กฎหมายจะผ่านมติ เมื่อตอนนี้เป็นกฎหมายแล้ว สิ่งที่พวกเขาสามารถทำอะไรคือเคารพกฎหมาย” พาย สีพัน กล่าวกับรอยเตอร์

การแก้ไขเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดขึ้นกับกฎหมายว่าด้วยสหภาพแรงงานฉบับปี 2559 ของกัมพูชา ที่ใช้กำกับดูแลสหภาพแรงงาน ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าเป็นเครื่องมือในการควบคุมเสียงของคนงานและกิจกรรมของสหภาพ

กฎหมายฉบับปี 2559 กำหนดกฎระเบียบเกี่ยวกับวิธีการก่อตั้ง การดำเนินการ และการยุบสหภาพ และผ่านการรับรองโดยไม่ถูกปรับแก้ และไม่มีคำร้องขอแก้ไขจากสหภาพแรงงาน นายจ้าง และกลุ่มสิทธิมนุษยชน

แกนนำสหภาพอิสระ กล่าวว่า การแก้ไขกฎหมายที่เกิดขึ้นเป็นการละเลยมาตรฐานสากลและข้อเสนอแนะของสหประชาชาติ นอกจากนั้น พวกเขาส่วนใหญ่ยังถูกกีดกันจากการหารือระหว่างผู้แทนจากฝ่ายรัฐบาล นายจ้าง และคนงาน

“ในที่ประชุม มีแต่ตัวแทนจากสหภาพที่สนับสนุนรัฐบาล เจ้าหน้าที่รัฐ และตัวแทนของนายจ้าง” คำแถลงจาก 36 กลุ่ม ระบุ

แกนนำสหภาพแรงงานที่มีชื่อเสียงรายหนึ่งเปิดเผยว่า เขาไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการหารือ ขณะที่การประชุมหารือครั้งที่ 2 ก็ไม่สามารถเข้าร่วมได้ เนื่องจากได้รับแจ้งเตือนเพียงวันเดียว

โสก กิน ประธานสมาพันธ์สหภาพแรงงานสร้างตึกและอุตสาหกรรมไม้แห่งกัมพูชาที่เข้าร่วมการหารือกล่าวว่า การปรับแก้เหล่านี้มีขึ้นเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของรัฐบาลและนายจ้าง.
กำลังโหลดความคิดเห็น