xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ กล่าวหาพม่าละเมิดอนุสัญญาชี้อาจมีคลังอาวุธเคมีเหลืออยู่จากทศวรรษ 1980

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




เอเอฟพี - สหรัฐฯ ระบุว่าพม่ากำลังละเมิดอนุสัญญาห้ามอาวุธเคมี และอาจมีคลังอาวุธเหลือจากทศวรรษ 1980

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวต่อที่ประชุมประจำปีขององค์การห้ามอาวุธเคมี (OPCW) ว่าชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้อาจยังมีอาวุธอยู่ในสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่แก๊สมัสตาร์ดถูกผลิตขึ้น

พม่าเข้าร่วมองค์การห้ามอาวุธเคมีอย่างเป็นทางการในปี 2558 ที่กำหนดห้ามการผลิต จัดเก็บ และใช้อาวุธเคมี

“สหรัฐฯ มีความวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่งว่าคลังอาวุธเคมีอาจยังมีอยู่ที่โรงงานอาวุธเคมีตามประวัติศาสตร์ของพม่า” รองผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวต่อที่ประชุม OPCW ในกรุงเฮก

วอชิงตันมีข้อมูลว่าพม่าเคยมีโครงการอาวุธเคมีในช่วงทศวรรษ 1980 ที่รวมถึงโครงการพัฒนาแก๊สมัสตาร์ด และโรงงานผลิตอาวุธเคมี

“จากข้อมูลที่มีอยู่ สหรัฐฯ รับรองว่าพม่าไม่ปฏิบัติตามอนุสัญญาห้ามอาวุธเคมี เนื่องจากความล้มเหลวของพม่าที่จะประกาศถึงโครงการอาวุธเคมีในอดีตและทำลายโรงงานอาวุธเคมี” รองผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุ

อย่างไรก็ตามพม่าเคยเผชิญกับข้อกล่าวหาเรื่องการจัดเก็บและการใช้อาวุธดังกล่าว

ในปี 2556 รายงานของรัฐสภาระบุว่าตำรวจใช้สารฟอสฟอรัสขาวกับผู้ชุมนุมประท้วงที่เหมืองทองแดงทางภาคเหนือของประเทศ เป็นผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากแผลไฟไหม้รุนแรง ต่อมาในเดือนก.ค. 2557 มีนักข่าว 5 คน ถูกตัดสินโทษจำคุก 10 ปี และใช้แรงงานหนัก จากบทความที่กล่าวหาว่าทหารผลิตอาวุธเคมี และเมื่อปีที่ผ่านมา รัฐบาลกึ่งพลเรือนของพม่าในตอนนั้นได้ปฏิเสธการใช้อาวุธเคมีกับกลุ่มกบฎจากชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์กะฉิ่นระหว่างการปะทะกันในพื้นที่ตอนเหนือของประเทศ

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ กล่าวว่าวอชิงตันได้หารือกับรัฐบาลพลเรือนและทหารของพม่าเกี่ยวกับประเด็นปัญหาดังกล่าวและพร้อมที่จะช่วยเหลือพม่ากำจัดอาวุธเหล่านั้น

พม่าร่วมเป็นรัฐภาคีลำดับที่ 191 ของอนุสัญญาห้ามอาวุธเคมี ที่มีผลบังคับใช้ในปี 2540 และอยู่ภายใต้การตรวจสอบขององค์การห้ามอาวุธเคมีที่กำกับดูแลการปฏิบัติตามอนุสัญญา

ในปี 2548 องค์กรสิทธิมนุษยชน Christian Solidarity Worldwide กล่าวหาอดีตรัฐบาลเผด็จการทหารเรื่องการใช้อาวุธเคมีกับกลุ่มกบฎจากชุมชนชาวกะเหรี่ยง

ข้อกล่าวหาของสหรัฐฯ เกิดขึ้นในขณะที่พม่ากำลังเผชิญกับแรงกดดันทางกฎหมายระหว่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้นจากการปฏิบัติของพม่าต่อชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮิงญา และนางอองซานซูจี ผู้นำพลเรือนของประเทศมีกำหนดเดินทางไปยังศาลยุติธรรมระหว่างประเทศที่กรุงเฮกในเดือนธ.ค. เพื่อนำคณะผู้แทนเข้าสู้คดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่พม่าถูกยื่นฟ้อง.
กำลังโหลดความคิดเห็น